โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน ๕๕๗,๕๑๘.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๓) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๕,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ โดยใช้ชื่อสายการเดินเรือว่ายูนิกลอรี่ มารีน ไลน์ โจทก์โดยนายลี มัน ชิ ได้มีหนังสือแต่งตั้งบริษัทกรีนสยาม จำกัด เป็นตัวแทนในการรับจองระวางขนส่งสินค้าทางทะเลไปต่างประเทศและในการส่งมอบสินค้าที่ขนส่งทางทะเลเข้ามายังประเทศไทย ตามหนังสือแต่งตั้งเอกสารหมาย จ. ๓ เมื่อระหว่างเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๐ ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๐ จำเลยติดต่อกับบริษัทกรีนสยาม จำกัด ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าจำพวกกระดาษไม่อาบหรือเคลือบ (Uncoated Woodfree) บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์จากประเทศไทยไปต่างประเทศโดยทางเรือเดินทะเล โดยจำเลยต้องมารับตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากบริเวณลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ไปยังโรงงานของจำเลยเพื่อนำสินค้าบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์แล้วนำไปส่งให้แก่โจทก์ที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้โจทก์นำบรรทุกลงเรือเดินทะเลไปส่งยังต่างประเทศ โดยในช่วงระหว่างวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จำเลยได้รับตู้คอนเทนเนอร์จำนวน ๙ ตู้ ไปจากลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ที่สถานีลาดกระบังเพื่อไปบรรจุสินค้าแล้วนำมาส่งให้โจทก์ และในระหว่างวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๐ จำเลยได้รับตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน ๕ ตู้ ไปจากลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ที่สถานีลาดกระบังเพื่อไปบรรจุสินค้าแล้วนำกลับมาส่งให้โจทก์ โจทก์ได้จัดส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดไปยังลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อรอการขนส่งทางเรือไปยังต่างประเทศ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ จำเลยได้ขอยกเลิกการส่งสินค้าจำนวน ๕ ตู้คอนเทนเนอร์ช่วงหลัง ในวันที่ ๒๗ และ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ จำเลยได้ขอยกเลิกการส่งสินค้าจำนวน ๙ ตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงแรก โดยขอรับตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าทั้ง ๑๔ ตู้ กลับคืนไปในวันดังกล่าว แล้วนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าทั้ง ๑๔ ตู้ ส่งคืนที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์ที่สถานีลาดกระบัง การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวของจำเลยทำให้โจทก์ต้องรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในการยกตู้คอนเทนเนอร์ ค่าฝากตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นให้แก่บริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการท่าเรือที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นเงินรวม ๓๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ได้ทวงถามจำเลยให้ชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๔๓ ?มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในข้อต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ค่าใช้จ่ายที่โจทก์เรียกร้องในคดีนี้เกิดขึ้นบนบก มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางทะเล จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๓) ซึ่งมีกำหนดอายุความสองปีมาใช้บังคับ จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในคดีนี้เกิดขึ้นจากการที่จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังต่างประเทศโดยทางเรือเดินทะเล โดยจำเลยจะรับตู้คอนเทนเนอร์เปล่าจากโจทก์ไปบรรจุสินค้าที่โรงงานของจำเลย แล้วนำกลับมาส่งมอบแก่โจทก์ที่ลานเก็บตู้คอนเทนเนอร์เพื่อให้โจทก์ดำเนินการขนส่งทางเรือไปยังต่างประเทศ และโจทก์ได้นำตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งบรรจุสินค้าของจำเลยตามฟ้องไปฝากไว้ยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อเตรียมการขนส่งทางเรือ เมื่อจำเลยได้ขอยกเลิกการส่งสินค้าโดยขอรับตู้คอนเทนเนอร์ตามฟ้องกลับไปขนสินค้าออกแล้วนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าส่งคืนโจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓๖ ที่บัญญัติว่า ในระหว่างที่ของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง ผู้ส่งของจะสั่งให้ผู้ขนส่งงดการส่งของนั้นไปหรือส่งกลับคืนมาก็ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายที่โจทก์ผู้ขนส่งได้เสียไปเพื่อจัดการในการขนส่งให้แก่โจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตราเดียวกัน และเมื่อพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. ๒๕๓๔ มิได้บัญญัติอายุความของสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีเช่นนี้ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ ซึ่งมีกำหนดอายุความ ๑๐ ปี มาใช้บังคับ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๓) ซึ่งมีกำหนดอายุความ ๒ ปี ไม่อาจนำมาใช้บังคับกับการรับขนของทางทะเลในกรณีนี้ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๓,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.