คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลย (ลูกหนี้) ทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2547
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ยืม จำนอง ตามคำพิพากษาในฐานะเจ้าหนี้มีประกันเป็นเงิน 1,220,868.84 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 1,193,117.95 บาท โดยให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของลูกหนี้ที่ 1 ก่อนเจ้าหนี้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 96 (3) ไม่เกินวงเงิน 1,165,000 บาท เงินยังขาดอยู่เท่าใดให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามมาตรา 130 (7) ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า "ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้มีว่าเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนวนเท่าใด เจ้าหนี้อุทธรณ์ขอให้แก้ไขคำสั่งศาลล้มละลายกลางให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในจำนวนที่ถูกต้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงว่าได้พิมพ์ตัวเลขต้นเงินที่นำมาคำนวณดอกเบี้ยสลับกันในหลักหมื่น ส่วนระยะเวลาที่นำมาคำนวณดอกเบี้ย เจ้าหนี้นับระยะเวลาทั้งหมดเป็นวัน ระเบียบปฏิบัติของกรมบังคับคดีให้นับระยะเวลาเป็นปี เศษของปีให้นับเป็นวันตามจำนวนวันของแต่ละเดือน กรณีเดือนกุมภาพันธ์ 2547 มี 29 วัน แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คำนวณให้ 28 วัน ที่ถูกต้องเป็นไปตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ เห็นว่า คดีล้มละลายในชั้นขอรับชำระหนี้ถือว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนหนี้ที่ขอรับชำระ คดีนี้เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คำนวณจำนวนเงินที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ขาดไป 27,750.89 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท อุทธรณ์ของเจ้าหนี้จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต่อศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง แต่กฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายพิเศษมีวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครองบรรดาเจ้าหนี้ให้ได้รับชำระหนี้หรือได้รับส่วนแบ่งอย่างเป็นธรรม ทั้งศาลฎีกาได้พิจารณาคำแถลงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวข้างต้นแล้วเห็นว่า มีกรณีจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาด สมควรรับอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ไว้พิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคสี่ สำหรับจำนวนหนี้ที่โต้แย้งกันในชั้นนี้คือดอกเบี้ยนั้น ศาลฎีกาตรวจรายงานเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในสำนวนคำขอรับชำระหนี้ที่ระบุว่ามีการพิมพ์ตัวเลขผิด ทำให้คำนวณยอดหนี้ผิดพลาด ที่ถูกคือเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ดอกเบี้ย 516,144.09 บาท เมื่อนำต้นเงิน ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความมารวมเข้าด้วยกันแล้ว หนี้ที่เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระมีจำนวนทั้งสิ้น 1,220,334.96 บาท เจ้าหนี้ขอมา 1,220,868.84 บาท จึงเกินไปกว่าสิทธิที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ เห็นสมควรแก้ไขให้คำสั่งศาลล้มละลายกลางให้ถูกต้อง อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 1,220,334.96 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง