โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 277, 283 ทวิ, 317
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 1 มีอายุ 14 ปีเศษ จำเลยที่ 2 มีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 และ 76 ประกอบมาตรา 53 ตามลำดับ ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารกับฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง และเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม เป็นความผิดกรรมเดียวกัน ลงโทษฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงและเด็กหญิงนั้นไม่ยินยอม อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 25 ปี ฐานร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร จำคุกคนละ 2 ปี 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 27 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ทั้งได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายรวมจำนวน 80,000 บาท จนเป็นเหตุพอใจแก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 13 ปี 9 เดือน พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบรายงานแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุตรดิตถ์แล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยและความประพฤติแล้วจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าจะให้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 (จังหวัดเชียงใหม่) มีกำหนดขั้นต่ำคนละ 3 ปี ขั้นสูงคนละ 4 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษหรือรอการกำหนดโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุตรดิตถ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าไม่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรม และให้ลงโทษปรับในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 แก่จำเลยทั้งสองอีกสถานหนึ่ง โดยลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 และ 76 ตามลำดับแล้ว ปรับคนละ 5,000 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 2,500 บาทอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 106 โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติ 2 ปี ให้จำเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก3 เดือนต่อครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด ให้จำเลยทั้งสองตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง หากผลการเรียนไม่เป็นที่พอใจหรือเรียนซ้ำชั้นให้ผู้อำนวยการสถานพินิจรายงานให้ศาลทราบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังสถานพินิจมีกำหนดคนละ 12 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เปลี่ยนโทษจำคุก และให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองในแต่ละฐานความผิดอีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษกับให้คุมความประพฤติของจำเลยทั้งสองไว้ อันเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพียงเล็กน้อยและมิใช่กรณีพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 เมื่ออัยการสูงสุดไม่ได้รับรองฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2551 มาตรา 6 และ 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74, 75 และ 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในมาตรา 74 และ 75 กฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกันต่างกันแต่เพียงเกณฑ์อายุของจำเลย คดีนี้ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ อยู่ในเกณฑ์อายุตามมาตรา 75 (เดิม) และมาตรา 74 (ที่แก้ไขใหม่) โดยมาตรา 75 (เดิม) บัญญัติให้ศาลพิจารณาว่า สมควรลงโทษจำเลยหรือไม่ ส่วนมาตรา 74 (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า จำเลยไม่ต้องรับโทษจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนนี้ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มาใช้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ส่วนจำเลยที่ 2 อายุ 17 ปีเศษ อยู่ในเกณฑ์อายุมาตรา 76 (เดิม)และมาตรา 75 (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่กำหนดให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง มิใช่ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลตามกฎหมายเดิม อันเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ซึ่งบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่เป็นคุณกว่ามาตรา 76 (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 อายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (ที่แก้ไขใหม่) แต่เห็นสมควรมอบตัวจำเลยที่ 1 ให้บิดาและมารดาของจำเลยที่ 1 รับไปดูแล โดยวางข้อกำหนดให้บิดาและมารดาของจำเลยที่ 1 ระวังไม่ให้จำเลยที่ 1 ก่อเหตุร้ายขึ้นอีกภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษานี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6.