ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำกัดสิทธิอุทธรณ์-ฎีกาในข้อเท็จจริงเมื่อทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท และประเด็นใหม่ในชั้นอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 บุกรุกเข้าไปในที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์และปลูกบ้านอยู่อาศัย ขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ให้การกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดิน ที่ปลูกบ้านของจำเลยแต่ละคนเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ละคนโดยการครอบครองปรปักษ์ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันตามราคาที่ดินที่จำเลยแต่ละคนบุกรุกเข้าไปสร้างบ้านแยกต่างหากจากกันตามที่จำเลยแต่ละคนโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสี่ขนย้ายบ้านเรือน ทรัพย์สิน และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวนเดือนละ 300 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายดังกล่าวเสร็จสิ้น จำเลยทั้งสี่ฎีกาขอให้ยกฟ้อง เมื่อทุนทรัพย์ตามฎีกาของจำเลยแต่ละคนแต่ละสำนวนที่พิพาทกันในชั้นฎีกามีจำนวนไม่เกินจำนวน 200,000 บาท แม้จำเลยทั้งสี่จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา ก็ห้ามมิให้จำเลยแต่ละคนฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 มีจำนวนเพียง 44,000 บาท ไม่เกินจำนวน 50,000 บาท ห้ามมิให้จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่3 ในข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาในข้อเท็จจริงโต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249
จำเลยทั้งสี่ฎีกาในข้อกฎหมายว่า จำเลยทั้งสี่ให้การโดยชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต ไม่จำต้องบรรยายรายละเอียดในคำให้การเพราะจำเลยทั้งสี่สามารถสืบเหตุแห่งการได้มาโดยไม่สุจริตของโจทก์ในชั้นพิจารณาได้ คำให้การของจำเลยทั้งสี่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินในส่วนพิพาทมายังไม่ถึง 10 ปี จำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และจำเลยทั้งสี่ไม่อาจฎีกาโต้แย้งการฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวของศาลอุทธรณ์ได้ แม้จะวินิจฉัยฎีกาในข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสี่ข้อนี้ให้ ก็ไม่มีผลทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เพราะเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาว่าจำเลยทั้งสี่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่พิพาทและศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงในข้อดังกล่าวตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา แม้จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับโอนที่ดินดังกล่าวมาโดยไม่สุจริต ก็ไม่มีผลทำให้จำเลยทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
นอกจากจำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณะแล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังระบุไว้ในแผนผังท้ายคำให้การว่าที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตที่ดินตามโฉนดที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เท่ากับจำเลยทั้งสี่ยอมรับว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณะ เพราะถ้าที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่สาธารณะจำเลยทั้งสี่จะอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองไม่ได้ เพราะจำเลย ทั้งสี่ไม่อาจยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 ประกอบกับทนายจำเลยทั้งสี่แถลงรับว่า บ้านของจำเลยทั้งสี่อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์จริง และเจ้าหน้าที่ได้ทำแผนที่วิวาทและคำนวณเนื้อที่และตำแหน่งที่ตั้งบ้านถูกต้องตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่นำชี้จริง เช่นนี้ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณะหรือไม่ ที่จำเลยทั้งสี่ยกประเด็นนี้ขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ที่ไม่ได้ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
คดีทั้งสี่สำนวนมีทุนทรัพย์พิพาทกันในแต่ละสำนวนแยกต่างหากจากกันได้ ค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดแต่ละสำนวนเกินกว่าอัตราขั้นสูง ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้าย ป.วิ.พ. จึงไม่ชอบ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็น สมควรแก้ไขให้ถูกต้องได้