โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรค้างพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 12,414,527 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม กับเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนจากอากรขาเข้า 1,727,589 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีอากร พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม 10,602,747 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของอากรที่ต้องเสียเพิ่มโดยไม่คิดทบต้น จำนวน 824,044 บาท นับแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2552 เป็นต้นไป จำนวน 447,124 บาท นับแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป และจำนวน 456,421 บาท นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2554 เป็นต้นไป จนถึงวันที่จำเลยนำเงินมาชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียเพิ่มแต่ละจำนวนดังกล่าว กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เมื่อระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2552 ถึงวันที่ 14 กันยายน 2554 จำเลยนำรถยนต์นั่งใหม่พร้อมอุปกรณ์ เกียร์อัตโนมัติและรถยนต์นั่งสำเร็จรูปจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสหรัฐอเมริกาเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยสำแดงปริมาณ ราคา และค่าภาษีอากรประเภทต่าง ๆ ที่ต้องชำระตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม 3 ฉบับ ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจสอบพบว่า จำเลยสำแดงราคาต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงอากรเป็นเหตุให้จำเลยชำระภาษีอากรขาด พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงแจ้งการประเมินภาษีอากรไปยังจำเลยให้ชำระอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย ภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามแบบแจ้งการประเมิน/เรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) ให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วทางไปรษณีย์ตอบรับเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2560 จำเลยไม่อุทธรณ์การประเมินและไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด การประเมินภาษีอากรเป็นอันยุติ
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าไม่เกินกว่าค่าอากรขาเข้าตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม 2552 ถึงวันที่ 14 กันยายน 2554 ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ยังมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ..." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่า เงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม..." เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 ยังคงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในส่วนที่เกินอากรขาเข้าที่คำนวณจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ให้แก่โจทก์ที่ 1 แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าที่คำนวณนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เว้นแต่เมื่อคำนวณเงินเพิ่มอากรขาเข้าจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 แล้ว เงินเพิ่มอากรขาเข้ายังไม่เท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินก็ให้คำนวณเงินเพิ่มอากรขาเข้าต่อไปจนกว่าจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ