ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคำนวณเงินบำเหน็จจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ: หลักเกณฑ์การโอนเงินบำเหน็จและระยะเวลาการทำงาน
ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กำหนดให้โอนเงินบำเหน็จที่สมาชิก มีสิทธิที่จะได้รับจากกองทุนเงินบำเหน็จพนักงาน ส่งเข้ากองทุนเป็นเงินสมทบของสมาชิกแต่ละราย ณ วันที่ได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนตามสิทธิที่พึงได้รับ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การโอนเงินบำเหน็จส่งเข้ากองทุนเป็นเงินสมทบ ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งจะเห็นได้ชัดจากข้อความในข้อ 23 วรรคสอง ที่กล่าวถึงกรณีจำเลยไม่สามารถโอนเงินจากกองทุนเงินบำเหน็จพนักงานเข้า สมทบกองทุนให้ครบตามวรรคแรกก็ให้จำเลยทยอยโอนเงินส่วนที่ขาดเข้าสมทบกองทุนให้ครบภายใน 5 ปี นับแต่ วันที่กองทุนได้รับการจดทะเบียนข้อบังคับดังกล่าว จึงไม่ใช้บังคับในการพิจารณาจ่ายเงินบำเหน็จ ส่วนการจะจ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาข้อบังคับดังกล่าวตอนต่อไปของข้อ 23 วรรคแรกที่ว่า การคิดคำนวณ เงินบำเหน็จให้ใช้อัตราเงินเดือนที่สมาชิก (โจทก์) ได้รับในเดือนที่นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับ จดทะเบียนกองทุนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตาม พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 คูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานมาโดยการนับจำนวนปีที่ทำงานมาให้นับแต่วันที่บรรจุเป็นพนักงาน จนถึงวันที่นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับจดทะเบียนกองทุนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตาม พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 และเศษของปีให้นับรวมเข้าด้วย โดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณเงินบำเหน็จตามข้อบังคับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ. 2524 ฉบับที่ 47 ว่าด้วยเงินบำเหน็จ เมื่อข้อบังคับดังกล่าวข้อ 6 (2) กำหนดให้พนักงานที่ลาออกซึ่งมีอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ และกำหนดว่าการนับเวลาทำงานสำหรับคำนวณเงินบำเหน็จ ให้นับตั้งแต่วันที่ทดลองงาน จนถึงวันสิ้นสุดการเป็นพนักงาน เมื่อโจทก์มีเวลาทำงานหรืออายุการทำงาน 6 ปี 6 เดือน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับ เงินบำเหน็จ