โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 5, 25, 30, 32, 42 ทวิ, 45 ป.อ. มาตรา 83, 91 ริบของกลางให้ตกเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง, 25, 30 (ที่ถูก ผิดตามมาตรา 32 ด้วย), 42 ทวิ ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันมีภาชนะเครื่องต้มกลั่นสุรา จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันทำสุรากลั่นและทำสุราแช่ตามฟ้องข้อ ข. และข้อ ค. เป็นกรรมเดียว จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันมีสุรากลั่นและมีสุราแช่ตามฟ้อง ข้อ ง. และข้อ จ. เป็นกรรมเดียว ปรับคนละ 1,000 บาท ฐานร่วมกันมีเชื้อสุรา ปรับคนละ 1,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 รวมจำคุกคนละ 5 เดือน และปรับคนละ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบของกลางให้ตกเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันมีภาชนะเครื่องต้มกลั่นสุรา จำคุกคนละ 2 เดือน ฐานร่วมกันทำสุรากลั่นและทำสุราแช่ จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันมีสุรากลั่นและมีสุราแช่ ปรับคนละ 1,000 บาท ฐานร่วมกันมีเชื้อสุรา ปรับคนละ 200 บาท รวมจำคุกคนละ 6 เดือน ปรับคนละ 1,200 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 600 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังตาม ป.อ. มาตรา 23 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 5, 25 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 46, 50, 87 และขอให้ศาลฎีกาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 4, 5, 25 ดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 46, 50, 87 ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 วรรคท้าย บัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว ศาลยุติธรรมย่อมยกขึ้นอ้างในคดีได้โดยไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยซ้ำอีก ส่วนที่จำเลยทั้งสามอ้างว่า พ.ร.บ. สุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 30, 32, 42 ทวิ, 45 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 46, 50, 87 นั้น จำเลยทั้งสามมิได้ให้เหตุผลว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างไร จึงมิใช่กรณีที่ศาลฎีกาจะต้องส่งข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสามไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 264 ฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.