โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 31, 44 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91,272, 275 ริบสุราของกลางเฉพาะส่วนที่เป็นสุราผิดกฎหมายหรือสุราปลอม จำนวน 3,820 ขวด และริบแสตมป์สุราปลอมที่ผิดกฎหมายจำนวน 3,466 ดวง กับริบแสตมป์สุราที่ใช้แล้วจำนวน 354 ดวง
ระหว่างพิจารณา บริษัทชัคส์ เฮ็นเน็สซี่ แอนด์โก จำกัดผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เป็นโจทก์ร่วมเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272, 275
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1), 275 พระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 31, 41 (ที่ถูกมาตรา 44) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1) ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน2,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน ความผิดฐานจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆในการประกอบการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275(ที่ถูกเป็นมาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 272(1) ปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 2,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 9 เดือนความผิดฐานขายสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 31 ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 5,000 บาท ความผิดฐานมีแสตมป์สุราซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นแสตมป์ปลอมไว้ในครอบครองและนำแสตมป์สุราที่ใช้แล้วมาใช้อีกตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 44 ปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 5,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือนรวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 14,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 18 เดือน และปรับ 5,000 บาท หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ริบสุราของกลางที่เป็นสุราปลอมจำนวน 3,820 บาท ริบแสตมป์ปลอมจำนวน 3,466 ดวง และริบแสตมป์สุราที่ใช้แล้วจำนวน 354 ดวง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า "HENNESSY" และ "HENNESSY GOGNAC"และรูปเครื่องหมายการค้าแขนคนถือขวานหงาย จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน 2531 จำเลยที่ 1 ส่งสุราไปขายให้แก่บริษัทเพิร์ลไชน์ อินดัสเตรียล จำกัด จำนวน 893 หีบและบริษัทเพิร์ล ไชน์ อินดัสเตรียล จำกัด ได้ส่งสุราไปขายต่อให้แก่บริษัทโอกินาวา เซ็นจูรี่ จำกัด ที่ประเทศญี่ปุ่นต่อมาเจ้าหน้าที่ศุลกากรญี่ปุ่นตรวจพบว่าสุราที่ส่งจากประเทศไทยให้แก่บริษัทโอกินาวา เซ็นจูรี่ จำกัด จำนวน3,880 ขวด เป็นสุราปลอม บริษัทโอกินาวา เซ็นจูรี่ จำกัดจึงส่งสุราจำนวนดังกล่าวคืนไปให้บริษัทเพิร์ล ไชน์ อินดัสเตรียลจำกัด ได้ส่งสุราต่อมาให้จำเลยที่ 1 ที่ประเทศไทย เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงยึดเป็นของกลาง ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเคราะห์และพิสูจน์ของกลางกรมสรรพสามิตทำการตรวจพิสูจน์สุราของกลางแล้วพบว่าสุราของกลางที่ส่งมาจำนวน 324 หีบ หรือจำนวน 3,880 ขวดนั้น เป็นน้ำสุราปลอม 3,820 ขวด เป็นน้ำสุราดี 60 ขวดแสตมป์ที่ปิดที่ขวดสุราเป็นแสตมป์ปลอม 3,466 ดวง เป็นแสตมป์จริงที่ใช้แล้วนำมาใช้อีก 354 ดวง และเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกรมตำรวจ ได้ตรวจฉลากที่ปิดที่ขวดสุราของกลางกับฉลากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมแล้ว พบว่าเป็นฉลากที่มิได้พิมพ์มาจากแท่นพิมพ์เดียวกัน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จำเลยทั้งสองฎีกาประการแรกว่า สุราของกลางไม่ใช่สุราที่จำเลยที่ 1 ส่งไปขายให้แก่บริษัทเพิร์ล ไชน์ อินดัสเตรียลจำกัด เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสุราของกลางเป็นสุราส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ส่งไปขายแก่บริษัทเพิร์ล ไชน์ อินดัสเตรียล จำกัด ที่เมืองฮ่องกง และบริษัทดังกล่าวส่งไปขายต่อให้แก่บริษัทโอกินาวา เซ็นจูรี จำกัดประเทศญี่ปุ่นจริง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการต่อไปว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนากระทำผิด เพราะจำเลยซื้อสุราจากท้องตลาดเพื่อส่งออกไปขาย ไม่อาจทราบข้อเท็จจริงว่า สุรา แสตมป์สุราและฉลากปิดขวดสุราของกลางเป็นของปลอมกับมีแสตมป์ที่ใช้แล้วนำมาใช้อีกนั้น ในส่วนเกี่ยวกับสุราปลอม เห็นว่า จำเลยทั้งสองประกอบธุรกิจการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสุรายี่ห้อเฮ็นเน็สซี่นี้ จำเลยทั้งสองเคยจัดซื้อเป็นจำนวนมากแล้วส่งไปขายให้แก่บริษัทเพิร์ล ไชน์ อินดัสเตรียล จำกัดที่เมืองฮ่องกงมาแล้วถึง 6 ครั้ง ฉะนั้นจำเลยย่อมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสินค้าสุราดังกล่าว ซึ่งอยู่ในทางการค้าของจำเลยทั้งสองเป็นอย่างดี และตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2กับพวกช่วยกันกว้านซื้อสุราจากห้างสรรพสินค้าและร้านค้าต่าง ๆทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดหลายแห่ง แต่ไม่มีการออกใบเสร็จรับเงินตลอดจนใบขนให้ ทั้งเมื่อเทียบราคาสุราที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ส่งสุราออกไปขายตามใบขนสินค้าขาออกกับราคาสุราที่บริษัทริชมอนเด้ (บางกอก) จำกัด ตัวแทนจำหน่ายสุราเฮ็นเน็สซี่ในประเทศไทยจำหน่ายสุราให้จำเลยที่ 1ตามใบกำกับสินค้าก็เห็นได้ชัดว่า ราคาสุราต่อขวดที่จำเลยส่งออกไปขายต่ำกว่าราคาสุราที่ขายในประเทศไทยมาก ย่อมเป็นข้อพิรุธที่ส่อแสดงว่าจำเลยทั้งสองน่าจะรู้ว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าสุราปลอม นอกจากนี้จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำผู้ขายสุราของกลางมาเบิกความต่อศาล อีกทั้งเมื่อจำเลยทั้งสองได้รับแจ้งว่าสินค้าบางส่วนของตนถูกส่งกลับคืนมาเพราะเหตุเป็นสินค้าปลอมจำเลยทั้งสองก็เพิกเฉยไม่ไปแสดงตน จึงถือได้ว่าเป็นข้อพิรุธอีกประการหนึ่งของจำเลยทั้งสองข้ออ้างของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าสุราของกลางที่จำเลยทั้งสองนำส่งออกไปขายแก่ผู้ซื้อต่างประเทศนั้นเป็นสุราปลอมซึ่งบรรจุขวดและปิดฉลากที่มีชื่อ รูป รอยประดิษฐ์และข้อความในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นสินค้าสุราเฮ็นเน็สซี่ที่แท้จริงของโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตามฟ้องฐานจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 275 และเป็นความผิดฐานขายสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 31 แต่สำหรับความผิดฐานเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ทำให้ปรากฏที่สินค้า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 272(1) นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาโดยโจทก์และโจทก์ร่วมมิได้โต้แย้งว่า จำเลยกว้านซื้อสุราของกลางมาจากร้านค้าแล้วนำส่งออกไปขายแก่ผู้ซื้อในต่างประเทศไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองทำสุราปลอมเองหรือบรรจุขวดเป็นสินค้าของจำเลยเองแต่มีการปิดฉลากปลอม ดังนี้ ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ดังกล่าวยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้เอาชื่อรูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้กับสินค้าของตนเอง จึงไม่มีความผิดในความผิดฐานนี้ส่วนความผิดเกี่ยวกับแสตมป์สุรา ฐานมีแสตมป์สุราซึ่งรู้ว่าเป็นแสตมป์ปลอมและมีแสตมป์สุราที่ใช้แล้วนำมาใช้อีกนั้นโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีแสตมป์สุราที่มีผู้ทำปลอมขึ้น 3,466 ดวง ไว้ในครอบครองและมีแสตมป์สุราที่ใช้แล้ว 354 ดวง นำมาใช้อีก โดยจำเลยร่วมกันนำแสตมป์ปลอมและแสตมป์ที่ใช้แล้วดังกล่าวมาปิดที่ขวดบรรจุสินค้าสุราของจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าสินค้าสุราของกลางเป็นสินค้าที่จำเลยทั้งสองทำขึ้นเองและนำแสตมป์ปลอมกับแสตมป์ที่ใช้แล้วดังกล่าวปิดที่ขวดบรรจุสินค้าสุรานั้นเอง คงฟังข้อเท็จจริงได้เพียงว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกว้านซื้อสุราจากร้านค้ามาเท่านั้น ดังนี้แม้จำเลยทั้งสองจะทราบและมีเจตนาซื้อสุราปลอมมาจำหน่ายก็ยังไม่อาจฟังได้แน่ชัดว่าจำเลยทั้งสองต้องรู้ว่าแสตมป์ที่ปิดที่ขวดสุราที่ซื้อมานั้นจะต้องเป็นแสตมป์ปลอมกรณีนับว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรู้อยู่ว่าเป็นแสตมป์ปลอมและมีแสตมป์ที่ใช้แล้วนำมาใช้อีก จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 มาตรา 44 ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการสุดท้ายขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้งสองประกอบธุรกิจการค้าโดยส่งสินค้าไปขายแก่ลูกค้าต่างประเทศการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองที่ขายสินค้าปลอมนั้นนอกจากจะเป็นการเอาเปรียบทางการค้าแล้วยังก่อให้เกิดความเสื่อมเสียทั้งทางเศรษฐกิจและเกียรติภูมิความเชื่อถือของประเทศชาติเป็นอย่างมาก เป็นเรื่องร้ายแรงที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยทั้งสองและไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 275 ประกอบด้วยมาตรา 272(1) พระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 31 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ความผิดฐานจำหน่ายซึ่งสินค้าอันเป็นสินค้าที่มีการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ ลงโทษจำเลยที่ 1 ปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน ความผิดฐานขายสุราที่รู้ว่าทำขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองคนละ 5,000 บาท รวมแล้วจำเลยที่ 1 ปรับ 7,000 บาทจำเลยที่ 2 จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ความผิดข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์