โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ครอบครองที่พิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเกินกว่า 10 ปี โจทก์ได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายเมื่อเดือนมีนาคม 2524 จำเลยได้นำเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัดที่พิพาทเพื่อขอออกโฉนด โจทก์คัดค้านเจ้าพนักงานที่ดินสั่งให้โจทก์ฟ้องต่อศาลภายใน 60 วัน โจทก์จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทหาได้เป็นของโจทก์ไม่ จำเลยไม่เคยสละสิทธิครอบครองเดิมที่พิพาทรวมทั้งที่นอกพิพาททางด้านทิศใต้เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน นายบุญฉ้วน เลาหะกุลสามีจำเลยซื้อมาจากขุนอนุพันธ์ภักดี และได้แจ้งการครอบครองที่ดินแบบ ส.ด.1 ตามกฎหมายหลังจากนายบุญฉ้วน ถึงแก่กรรม จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก และร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนด โจทก์ขัดขวางอ้างว่าที่พิพาทและนอกที่พิพาททั้งแปลงเป็นของโจทก์ จำเลยจึงฟ้องโจทก์ขอให้ออกจากที่ดินของจำเลยทั้งหมด ศาลพิพากษาให้จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้นชนะ คดีถึงที่สุด ที่จำเลยชี้เขตพิพาทไม่เต็มตาม ส.ค.1 ในคดีเดิมเนื่องจากจำเลยตั้งใจจะอุทิศที่พิพาทให้เป็นที่สาธารณะของเทศบาลสำหรับคนอิสลามนำศพไปป่าช้าตามความประสงค์ของนายบุญฉ้วนเลาหะกุล เจ้ามรดก แต่ต่อมาได้ทราบจากเทศบาลตะลุบันว่าบัดนี้คนอิสลามไม่ได้ใช้ที่พิพาทเป็นทางนำศพผ่านไปสู่ป่าช้าอีกต่อไปจำเลยก็ไม่จำเป็นต้องอุทิศให้เป็นทางสาธารณะ จำเลยจึงขอให้เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดออกโฉนดตามสิทธิใน ส.ค.1 แต่โจทก์กลับขัดขวาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...คดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า นายบุญฉ้วนเลาหะกุล ได้อุทิศที่พิพาทคดีนี้ทั้งแปลงให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน หาใช่ยกให้เพียงบางส่วนไม่ การอุทิศให้แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือและต่อมาไม่มีคนนำศพไปป่าช่าอีกต่อไปก็หาทำให้ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสิ้นสภาพไปไม่ ที่พิพาทจึงไม่เป็นของโจทกื และไม่กลับมาเป็นของจำเลย แต่คดีฟังได้ประการหนึ่งว่า จำเลยและนายบุญฉ้วน เลาหะกุล ได้สละการครอบครองที่พิพาทแล้วเมื่อโจทก์ครอบครองที่พิพาทอยู่ โจทก์จึงมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลย
แต่ที่โจทก์ขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่พิพาทนั้น เนื่องจากที่ดินที่พิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1304 (2) จึงไม่อาจห้ามมิให้เกี่ยวข้องเสียทั้งหมดได้ เพราะเป็นการขัดวัตถุประสงค์ของการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทนี้จะห้ามได้เฉพาะกรณีที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยที่มิใช่เป็นไปเพื่อการใช้ที่ดินตามวัตถุที่ประสงค์ของสาธารณสมบัติของแผ่นดินแปลงนี้เท่านั้น
พิพากษากลับ ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่พิพาทเว้นแต่ที่เป็นการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามวัตถุประสงค์ของสาธารณสมบัติของแผ่นดินแปลงพิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ".