โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 362, 363, ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 67, 109 และให้จำเลยย้ายหลักเขตที่ดินหมายเลข 2ฉ – 8316 กลับไปตำแหน่งเดิมด้านทิศใต้ระยะ 1.15 เมตร และย้ายหลักเขตที่ดินหมายเลข 8จ - 8336 กลับไปตำแหน่งเดิมด้านทิศใต้ระยะ 1.58 เมตร กับให้จำเลยย้ายกำแพงที่จำเลยกับพวกได้ก่อสร้างขึ้นกลับไปตำแหน่งเดิมตามระยะหลักเขตที่ดินที่ย้ายกลับไป
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 (เดิม), 363 (เดิม), ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 67, 109 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 363 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยย้ายหลักเขตที่ดินหมายเลข 2ฉ - 8316 และ 8จ - 8336 พร้อมรั้วกำแพงที่จำเลยทำขึ้นกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในคดีส่วนอาญา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยฎีกาในคดีส่วนแพ่ง โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง คดีนี้แม้โจทก์จะบรรยายข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 365 (2) แต่เมื่อคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ไม่ระบุมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษสูงขึ้น อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยมาด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตาม มาตรา 365 (2) ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องเกินคำขอและเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ จึงต้องถือว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363 เท่านั้น ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายในความผิดข้อหาเคลื่อนย้ายหลักหมายเขตหรือหมุดหลักฐานเพื่อการแผนที่ไปจากที่เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดข้อหาดังกล่าว จึงเป็นผู้เสียหายนั้น เห็นว่า ความผิดข้อหาเคลื่อนย้ายหลักหมายเขตหรือหมุดหลักฐานเพื่อการแผนที่ไปจากที่เดิมโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่จะฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 (1) และพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 มาตรา 14 (2) เอกชนจะฟ้องได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ แม้โจทก์อ้างว่าจำเลยกับพวกร่วมกันเคลื่อนย้ายหลักเขตที่ดินเข้าไปที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 6.3 ตารางวา ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่เป็นผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในคดีส่วนแพ่งประการสุดท้ายมีว่า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นคำขอที่อาจบังคับได้หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้ว่าจะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่งและมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้โดยเห็นว่าคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยย้ายหลักเขตที่ดินกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม เป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลกำหนดให้จำเลยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งจำเลยไม่จำเป็นต้องกระทำการด้วยตนเองโดยตรง แม้การย้ายหลักเขตที่ดิน จะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่เมื่อจำเลยไม่สามารถดำเนินการโดยลำพังด้วยตนเองได้ จำเลยก็สามารถดำเนินการโดยการยื่นคำร้อง คำขอผ่านเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้ดำเนินการนำหลักเขตที่ดินกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิมตามคำพิพากษาได้ โดยการที่เจ้าพนักงานที่ดินจะย้ายหลักเขตที่ดินกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม เจ้าพนักงานที่ดินจะต้องทำการรังวัดสอบเขตที่ดินตามกฎหมาย ตามระเบียบ และตามหลักวิชาการ เพื่อกำหนดตำแหน่งเดิมของที่ดิน มิใช่ตามที่คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องนำชี้แต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งหากจำเลยไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำบังคับ โจทก์สามารถที่จะดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 358 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้ คำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยย้ายหลักเขตที่ดินกลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม จึงเป็นคำขอที่อาจบังคับได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งชั้นฎีกาให้เป็นพับ