ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 เวลากลางวันเจ้าพนักงานตำรวจตั้งจุดตรวจที่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 27 - 28 ถนนสายพระนครศรีอยุธยา - สุพรรณบุรี ผู้คัดค้านที่ 1 ขับรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า คัมรี หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก - 0352 พระนครศรีอยุธยา มาถึงจุดตรวจโดยมีผู้คัดค้านที่ 2 และบุคคลอื่นนั่งมาด้วย ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีอาการพิรุธ เจ้าพนักงานตำรวจจึงขอตรวจค้นรถ พบทรัพย์สินและเงินสดจำนวนมากจึงยึดเป็นของกลางและจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ดำเนินคดีฐานร่วมกันฟอกเงิน และได้แจ้งให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดำเนินการตรวจสอบรายงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมของผู้คัดค้านทั้งสาม ตามที่ได้รับแจ้งจากรองผู้กำกับการ (หัวหน้า) สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางซ้าย ว่าทรัพย์สินรวม 24 รายการ มูลค่า 38,229,370.01 บาท ของผู้คัดค้านทั้งสาม เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าวไว้ชั่วคราว และคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาหลักฐานตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วมีมติให้ส่งเรื่องให้ผู้ร้องดำเนินการต่อไป ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 7 พร้อมดอกผลที่เกิดมีขึ้นตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49, 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้านว่า ทรัพย์สินตามคำร้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านทั้งสามซึ่งได้มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างไต่สวน ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงแก่ความตาย เด็กชายวัชระโดยผู้คัดค้านที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรมยื่นคำร้องขอเข้าเป็นผู้ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า คัมรี หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก - 0352 พระนครศรีอยุธยา กับเงินสดจำนวน 5,237,320 บาท สร้อยคอทองคำ 15 เส้น สร้อยข้อมือทองคำ 8 เส้น สร้อยข้อมือทองคำฝังเพชร 3 เส้น กำไลข้อมือทองคำ 5 อัน กรอบพระเลี่ยมทองคำ 5 อัน จี้เรือนประดับด้วยหินสีขาว 1 อัน ทองคำแท่ง 1 แท่ง แหวนทองคำ 5 วง ต่างหูทองคำ 17 อัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย 3 เครื่อง โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโมโตโรล่า 1 เครื่อง ที่ดินโฉนดเลขที่ 21890 เลขที่ 202173 เลขที่ 202174 และเลขที่ 202178 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ เงินฝากที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพระราม 4 เลขที่บัญชี 019-2-25357-9 จำนวนเงิน 1,500,000.79 บาท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองเตย เลขที่บัญชี 017-2-81434-4 จำนวนเงิน 1,270,795.04 บาท ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองเตย เลขที่บัญชี 015-3-33095-6 จำนวน 22,835.35 บาท และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสำโรง เลขที่บัญชี 122-5-21089-5 จำนวนเงิน 2,165,498.83 บาท พร้อมด้วยดอกผล รถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ลก 8554 กรุงเทพมหานคร อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น พร้อมสระว่ายน้ำบนที่ดินโฉนดเลขที่ 202078 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ และอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น บนที่ดินโฉนดเลขที่ 21890 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ ตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารหมาย ร.5 ซึ่งให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำสั่งนี้ ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2544 เวลา 10.30 นาฬิกา ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางซ้าย ตั้งจุดตรวจที่บริเวณถนนสายพระนครศรีอยุธยา - สุพรรณบุรี หมู่ที่ 1 ตำบลบางซ้าย อำเภอบางซ้าย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า คัมรี หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก - 0352 พระนครศรีอยุธยา แล่นผ่านมาเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้จอดปรากฏว่ามีผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ขับรถและผู้คัดค้านที่ 2 กับพวกอีกหลายคนนั่งมาในรถ เมื่อมีการตรวจค้นรถ พบเงินสดและทองรูปพรรณจำนวนมากบรรจุอยู่ในกระเป๋าเดินทางในกระโปรงท้ายรถ จึงยึดไว้เป็นของกลาง และควบคุมตัวผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กับพวกพร้อมของกลางไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางซ้ายเพื่อทำการสอบสวน จากนั้นรองผู้กำกับการ (หัวหน้า) สถานีตำรวภูธรอำเภอบางซ้ายทำรายงานการจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กับพวก และรายงานการยึดของกลางไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เลขาธิการคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวรวม 20 รายการ ตามสำเนาเอกสารหมาย ร.1 ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาแล้วเชื่อว่าทรัพย์สินรวม 24 รายการ ตามเอกสารหมาย ร.5 คือ (1) รถยนต์เก๋ง ยี่ห้อโตโยต้า คัมรี หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก - 0352 พระนครศรีอยุธยา (2) ธนบัตรรัฐบาลไทยชนิดต่างๆ รวม 5,237,320 บาท (3) สร้อยคอทองคำ 15 เส้น (4) สร้อยข้อมือทองคำ 8 เส้น (5) สร้อยข้อมือทองคำฝังเพชร 3 เส้น (6) กำไลทองคำ 5 อัน (7) กรอบเลี่ยมพระเครื่อง 5 อัน (8) จี้ประดับหินสีขาวคล้ายเพชร 1 อัน (9) ทองคำแท่ง 1 แท่ง (10) แหวนทองคำ 5 วง (11) ต่างหูทองคำ 17 อัน (12) โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย 3 เครื่อง (13) โทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโมโตโรล่า 1 เครื่อง (14) ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 21890 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง) จังหวังสมุทรปราการ (15) ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 202173 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการ (16) ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 202174 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปรากร (17) เงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาพระราม 4 เลขที่บัญชี 019-2-25357-9 (18) เงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองเตย เลขที่บัญชี 017-2-81434-4 (19) เงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาคลองเตย เลขที่บัญชี 015-3-3095-6 (20) รถยนต์กระบะบรรทุกส่วนบุคคลยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ลก 8554 กรุงเทพมหานคร (21) เงินฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสำโรง เลขที่บัญชี 122-5-21089-5 (22) ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 202178 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ (23) อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น พร้อมสระว่ายน้ำ บนที่ดินโฉนดเลขที่ 202178 (24) อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น บนที่ดินโฉนดเลขที่ 21890 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดอันเป็นการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามในประการแรกว่า ผู้ร้องมีภาระการพิสูจน์ว่า ผู้คัดค้านทั้งสามเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายยาเสพติดและทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดที่แสดงให้เห็นว่า ทรัพย์สินตามคำร้องได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือจากการสนับสนุน หรือช่วยเหลือการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันจะเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานและพยานผู้ร้องมีแต่เพียงความเห็นเท่านั้น มิได้อ้างคำพิพากษาของศาลที่ผู้คัดค้านที่ 1 เคยถูกฟ้องในข้อหาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยมีพฤติการณ์เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า
(1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือ
(2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือได้มาโดยสุจริต และตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ"
มาตรา 51 บัญญัติว่า
"เมื่อศาลทำการไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา 49 แล้ว หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ฟังไม่ขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี"
ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 เป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน จะต้องแสดงให้ศาลเห็นรวม 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องแสดงว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและประการที่สอง ต้องแสดงว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ และกรณีที่ 2 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 51 เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ทั้งมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คำจำกัดความ "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" หมายความว่า
"(1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน
(2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใดๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ
(3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2)
ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจึงมิได้หมายความว่าต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำความผิดและถูกลงโทษเท่านั้นไม่ เพียงแต่หากปรากฏว่า มีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น หรือเป็นทรัพย์สินอื่นที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าว หรือเป็นดอกผลของทรัพย์จากการกระทำดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแล้ว กรณีจึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าผู้คัดค้านกระทำการดังกล่าว หรือเป็นดอกผลของทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าวก็ถือได้ว่าผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อนหรือไม่ และทรัพย์สินตามบัญชีในสำเนาเอกสารหมาย ร.5 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ ในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นั้น ผู้ร้องมีจ่าสิบตำรวจเชษฐวิทย์ ผู้บังคับหมู่สถานนีตำรวจนครบาลท่าเรือเป็นพยานเบิกความว่า พยานสืบทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในลักษณะขายส่งครั้งละ 50 มัด ถึง 60 มัด ให้แก่ลูกค้า และใช้เวลาขายครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง พยานเคยเข้าไปตรวจค้นบ้านผู้คัดค้านที่ 1 ครั้งแรกพบเงินสด 500,000 บาท ถึง 600,000 บาท ไม่พบยาเสพติดให้โทษจึงได้ทำบันทึกการตรวจค้นและปล่อยตัวไป ครั้งที่ 2 เข้าไปตรวจค้นเมื่อได้รับแจ้งจากสายลับว่ามีการนำเมทแอมเฟตามมีนมาที่บ้านดังกล่าว ผลการตรวจค้นพบเศษของเม็ดเมทแอมเฟตามีนเป็นซีกบ้าง ครึ่งเม็ดบ้าง ตกอยู่ที่เบาะรถยนต์กระบะของผู้คัดค้านที่ 1 รวมกันแล้วได้ 2 เม็ด ถึง 3 เม็ด พยานแจ้งข้อหาแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินคดีแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งศาลพิพากษารอการลงโทษจำคุกไว้ ผู้คัดค้านที่ 1 พักอาศัยอยู่กับผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และเปิดบ้านเป็นร้านขายของชำเล็กๆ ตามภาพถ่ายหมาย ร.6 ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 มีพฤติการณ์วิ่งเต้นช่วยเหลือผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมมาที่สถานีตำรวจนครบาลท่าเรือ และเคยเปิดร้านคาราโอเกะที่ชุมชนคลองเตยล็อก 1 เมื่อปี 2542 แต่ปิดร้านเมื่อปี 2543 ร้อยตำรวจเอกเพทายเป็นพยานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกันดังกล่าวและเบิกความว่า พยานเคยวางแผนล่อซื้อยาเสพติดให้โทษจากผู้คัดค้านที่ 1 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 รู้ตัวเพราะผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่จำหน่ายยาเสพติดให้โทษให้แก่ผู้ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน วิธีการจำหน่ายก็ติดต่อทางโทรศัพท์และให้ลูกน้องเป็นผู้รับส่งยาเสพติดให้โทษให้แก่ลูกค้าแทน ร้อยตำรวจเอกวิชัย เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางซ้ายเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ขับรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า ค้มรี หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก - 0352 พระนครศรีอยุธยา มาถึงบริเวณที่พยานกับพวกตั้งจุดตรวจอยู่ พยานกับพวกตรวจค้นที่กระโปรงท้ายรถ พบเงินสดเป็นมัดๆ บรรจุอยู่ในกระเป๋าใบใหญ่ มีทั้งธนบัตรชนิด 10 บาท 20 บาท 100 บาท 500 บาท และ 1,000 บาท ตรวจนับในเบื้องต้นได้ 4,000,000 บาท เศษ ผู้คัดค้านที่ 1 แจ้งว่าเป็นเพียงคนขับรถ ผู้คัดค้านที่ 2 แจ้งว่าเบิกเงินมาเพื่อนำไปซื้อที่ดินที่จังหวัดกาญจนบุรี นางสาวอนงค์ซึ่งนั่งมาในรถแจ้งว่าเป็นธนบัตรย่อยที่แลกมาไว้เพื่อใช้ในการทอนเงินในร้านขายของชำ ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 บอกพยานว่าทั้งหมดยกให้แต่ขอให้ปล่อยรถยนต์เก๋งกับทุกคนที่นั่งมาในรถ พยานเห็นเป็นพิรุธจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบและควบคุมตัวผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กับพวก พร้อมทั้งนำรถยนต์คันดังกล่าวไปที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางซ้ายเพื่อตรวจค้นโดยละเอียด ผลการตรวจค้นพบเงินสดเพิ่มอีก 1,000,000 บาทเศษ ทองรูปพรรณหลายรายการและทองคำแท่งมีน้ำหนักรวมกัน 100 บาทเศษ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง โฉนดที่ดิน 3 ฉบับ สมุดเงินฝากธนาคาร 3 เล่ม รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการตรวจค้นเอกสารหมาย ร.9 และ ร.10 พยานสอบปากคำผู้ที่เดินทางมาพร้อมกัน ได้แก่นางสาวอนงค์ซึ่งให้การว่าเงินสดได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ผู้คัดค้านที่ 2 ให้การว่าเงินสดเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและหลบหนีการกวาดล้างที่ชุมชนคลองเตยมา พันตำรวจตรีพีระพล เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นพยานเบิกความว่า พยานเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ และทำบันทึกคำให้การของผู้คัดค้านที่ 1 ไว้ตามเอกสารหมาย ร.19 มีรายละเอียดว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เคยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในชุมชนคลองเตย เมื่อประมาณ พ.ศ.2541 และได้เลิกจำหน่ายก่อนถูกจับกุม 2 เดือน รถยนเก๋งยี่ห้อโตโยต้า คัมรี หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ก - 0352 พระนครศรีอยุธยา ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ออกเงินซื้อจำนวน 1,340,000 บาท แต่ระบุชื่อนางอนงค์เป็นผู้ซื้อ เหตุที่นำทรัพย์สินจำนวนมากมาไว้ในรถยนต์คันดังกล่าวก็เนื่องจากก่อนถูกจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 ถูกผู้มีอิทธิพลกรรโชกทรัพย์ได้จ่ายเงินให้ไปครั้งละหลายแสนบาท และถูกข่มขู่ว่าจะถูกวิสามัญฆาตกรรม จึงรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดและพาครอบครัวหลบหนีจนกระทั่งมาถูกจับกุมตัว โดยพยานดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานของรัฐต่างเบิกความไปตามที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งทรัพย์สินที่ตรวจค้นพบมีเป็นจำนวนมาก ผิดปกติวิสัยของวิญญูชนที่จะนำมาเก็บไว้ที่กระโปรงท้ายรถยนต์ พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่าทรัพย์สินตามสำเนาเอกสารหมาย ร.5 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อน ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 พยานหลักฐานของผู้ร้องมิได้ยืนยันว่าผู้คัดค้านที่ 3 เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานแต่ประการใด พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานมาก่อนแต่ทรัพย์สินตามสำเนาเอกสารหมาย ร.5 รายการที่ (1) ถึง (13) และ (17) ถึง (23) เป็นของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสอง กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ ส่วนทรัพย์สินรายการที่ (14) ถึง (16) และ (24) ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลงซึ่งรับโอนมาจากผู้คัดค้านที่ 2 และมีอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น ปลูกอยู่บนที่ดิน กรณีจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 (2) คือ ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องแสดงให้เห็นว่าผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้รับโอนที่ดินทั้งสามแปลงโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนและเป็นเจ้าของอาคารดังกล่าว แต่ในทางไต่สวนในส่วนของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีผู้คัดค้านที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ 2 ประกอบอาชีพขายของชำโดยตั้งร้านค้าอยู่ที่บ้านเลขที่ 101/130 ชุมชนคลองเตยล็อก 6 ตั้งแต่ปี 2533 ปล่อยเงินกู้และเป็นนายวงแชร์ มีกำไรจากการค้าขายเดือนละ 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินกู้รายวัน วันละประมาณ 10,000 บาท และรายเดือน เดือนละประมาณ 300,000 บาท มีรายได้จากการเล่นแชร์ 6 วง วงละไม่ต่ำกว่า 10 มือ ได้ค่าตอบแทนเป็นดอกเบี้ยจากผู้ที่ประมูลแชร์ วันละ 10,000 บาทเศษ ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 มีรายได้จากการเล่นการพนันมวยและไพ่ป๊อกเด้ง ผู้คัดค้านที่ 1 ให้เงินแก่ผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อเล่นการพนันได้เฉลี่ยเดือนละ 300,000 บาท และเคยให้เงินถึงครั้งละ 1,000,000 บาท หลายครั้ง ทรัพย์สินตามรายการที่ (3) ถึง (11) เป็นของผู้คัดค้านที่ 2 ทยอยซื้อมาตั้งแต่ปี 2534 ถึงปี 2543 บัญชีเงินฝากตามรายการที่ (17) ถึง (19) และ (21) ผู้คัดค้านที่ 2 เปิดไว้เพื่อฝากและถอนเงินที่ได้จากการค้าขายปล่อยเงินกู้และเล่นแชร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ตามรายการที่ (13) และรถยนต์กระบะตามรายการที่ (20) เป็นของผู้คัดค้านที่ 2 โดยนำเงินที่ได้จากการขายของชำ ปล่อยเงินกู้และการเล่นแชร์ไปเช่าซื้อมา ส่วนรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า คัมรี ตามรายการที่ (1) ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซื้อจากบริษัทโตโยต้าอยุธยา จำกัด เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2544 ราคา 1,300,000 บาทเศษ โดยนำเงินสดที่ได้จากการเล่นการพนันไปชำระ และเงินสดตามรายการที่ (2) ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาจากการเล่นการพนัน ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ค้ายาเสพติดและเงินที่มีนั้นได้มาจากการค้ายาเสพติด แต่ผู้คัดค้านที่ 2 เบิกความตอบผู้ร้องถามค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 2 อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้คัดค้านที่ 1 ตั้งแต่ปี 2534 ขณะที่มีอายุ 19 ปี ขณะนั้นผู้คัดค้านที่ 1 เป็นลูกจ้างผู้คัดค้านที่ 3 มีเงินเดือน เดือนละ 5,000 บาท ถึง 6,000 บาท ไม่มีบ้านหรือทรัพย์สินใดเป็นของตนเอง ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เคยเสียภาษีการค้าหรือภาษีเงินได้ส่วนบุคคล การปล่อยเงินกู้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ การเล่นแชร์มือละ 50,000 บาท ถึง 60,000 บาท ลูกวงแชร์ชื่อ จุ๋ม หนุ่ย ต้อย ญา เล็ก ไม่ทราบชื่อและนามสกุลจริง นางจำเนียร เบิกความว่า พยานเล่นแชร์กับผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 2 มือ มือละ 100 บาท นายประจวบ เบิกความว่า พยานเคยกู้เงินผู้คัดค้านที่ 2 ครั้งละ 5,000 บาท ถึง 10,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน นางอนงค์ เบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ใส่ชื่อพยานเป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้า คัมรี เพราะผู้คัดค้านที่ 1 เล่นการพนันและมีหนี้สินมากเกรงว่าเจ้าหนี้จะมาทวง ผู้คัดค้านที่ 3 เบิกความว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ผู้คัดค้านที่ 2 บอกให้ผู้คัดค้านที่ 3 ช่วยขายที่ 3 แปลง เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 1 เป็นหนี้การพนันจำนวน 10,000,000 บาทเศษ พยานของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จึงเบิกความขัดแย้งกันเอง และเมื่อพิจารณาถึงสภาพร้านค้าของชำของผู้คัดค้านที่ 2 ตามภาพถ่ายหมาย ร.6 มีสภาพเป็นห้องแถวไม้หลังคาเป็นเพิงสังกะสี มีสินค้าไม่มากนัก ไม่น่าเชื่อว่าจะขายได้กำไรเป็นเงินถึงเดือนละ 50,000 บาท ถึง 100,000 บาท นอกจากนี้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มิได้นำสืบถึงค่าใช้จ่ายในการกินอยู่และค่าใช้สอยส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และครอบครัว เช่น ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า เป็นต้น ซึ่งจะต้องมีเป็นประจำอีกด้วย ทั้งจำนวนรายได้ที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 นำสืบมีแต่คำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 2 เพียงลอยๆ โดยไม่มีพยานเอกสารสนับสนุน และขัดแย้งกับพยานปากอื่นๆ ของผู้คัดค้านที่ 2 เองที่ยืนยันว่าเล่นแชร์กับผู้คัดค้านที่ 2 เพียงมือละ 100 บาท และกู้เงินจากผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงิน 5,000 บาท ถึง 10,000 บาท เท่านั้น จึงไม่น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 มีเงินที่ได้จากการประกอบอาชีพดังกล่าวไปซื้อทรัพย์สินตามรายการที่ (3) ถึง (11) (13) (22) และ (23) และมีเงินฝากจำนวนมากตามรายการที่ (17) ถึง (19) และ (21) ได้ ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 เริ่มต้นจากการเป็นลูกจ้างผู้คัดค้านที่ 3 ได้เงินเดือนเพียงเดือนละ 5,000 บาท ถึง 6,000 บาท ไม่มีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง ต้องไปอาศัยผู้คัดค้านที่ 2 และเล่นการพนันมวยและไพ่ป๊อกเด้ง จึงไม่น่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 1 จะมีเงินสดจำนวนมากถึง 5,237,320 บาท ตามรายการที่ (2) จากการเล่นการพนันเท่านั้น และนำเงินสดจากการเล่นการพนันไปซื้อทรัพย์สินตามรายการที่ (1) และ (12) ได้ พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกยึดดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด กรณีจึงต้องรับฟังว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ส่วนทรัพย์สินรายการที่ (14) ถึง (16) ซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 21890, 202173 และ 202174 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งเหนือ) อำเภอเมืองสมุทรปราการ (พระโขนง) จังหวัดสมุทรปราการกับอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 5 ชั้น รายการที่ (24) นั้น ผู้คัดค้านที่ 3 ประกอบอาชีพค้าขายเครื่องเหล็กก่อสร้างทุกชนิดในนามของห้างหุ้นส่วนจำกัดอโนทัยมงคลโลหะเจริญ (1996) ห้างฯ มีเงินสดประมาณ 5,000,000 บาท ลูกค้าซื้อสินค้าเป็นเงินสด ผู้คัดค้านที่ 3 มีรายได้จากการขายเหล็กเส้นเดือนละ 700,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2543 ผู้คัดค้านที่ 3 ตกลงซื้อที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าวด้วยวาจาจากผู้คัดค้านที่ 2 ในราคา 4,500,000 บาท เพื่อใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารพักอาศัยให้ผู้อื่นเช่า จากนั้นเมื่อเดือนเมษายน 2543 ได้ว่าจ้างให้นายเจียมก่อสร้างอาคาร 5 ชั้น ตามรายการที่ (24) ในราคา 7,500,000 บาท ต่อมาได้จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2543 โดยชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 4,000,000 บาท ยังคงค้างชำระ 500,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมอบโฉนดให้ผู้คัดค้านที่ 2 ยึดถือไว้เป็นประกัน เมื่อผู้คัดค้านที่ 3 ชำระเงินส่วนที่เหลือเสร็จแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ก็มอบโฉนดที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ผู้คัดค้านที่ 3 มีบัญชีเงินฝากธนาคาร 3 บัญชี ตามเอกสารหมาย ค.1 ถึง ค.3 แต่คำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 3 ดังกล่าวล้วนแล้วแต่มีข้อพิรุธ กล่าวคือ ประการที่ 1 ที่ผู้คัดค้านที่ 3 เบิกความว่ามีรายได้จากการขายเหล็กเส้นเดือนละนับล้านบาทนั้น มีแต่คำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 3 แต่เพียงลอยๆ โดยไม่มีเอกสารใดสนับสนุน เช่นแบบยื่นรายการเพื่อเสียภาษี ทั้งตามสำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารเอกสารหมาย ค.1 กับสมุดเงินฝากธนาคารเอกสารหมาย ค.2 ของผู้คัดค้านที่ 3 และสำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารเอกสารหมาย ค.3 ของห้างหุ้นส่วนจำกัดอโนทัยมงคลโลหะเจริญ (1996) มีเงินเหลืออยู่ในบัญชี 2,150 บาท 43,349.03 บาท และ 53,463.73 บาท ตามลำดับเท่านั้น ประการที่ 2 ที่ผู้คัดค้านที่ 3 เบิกความว่าซื้อที่ดินทั้งสามแปลงมาจากผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อเดือนมีนาคม 2543 ว่าจ้างให้นายเจียมก่อสร้างอาคารในราคา 7,500,000 บาท แต่จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์เมื่อเดือนมิถุนายน 2543 เป็นการผิดปกติวิสัยของวิญญูชนที่จะก่อสร้างอาคารในที่ดินของบุคคลอื่นโดยที่ยังมิได้รับโอนกรรมสิทธิ์ ประการที่ 3 ที่ผู้คัดค้านที่ 3 อ้างว่าซื้อที่ดินทั้งสามแปลงในราคา 4,500,000 บาท แต่ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ร.14 ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 21890 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 เข้าถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันนางพรพิไลเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 โดยเสียค่าตอบแทน 1,500,000 บาท และในวันเดียวกันนี้นางพรพิไลขายที่ดินโฉนดเลขที่ 202173 และ 202174 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ในราคาแปลงละ 1,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 นางพรพิไลขายส่วนของตนในที่ดินโฉนดเลขที่ 21890 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ในราคา 1,500,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 จึงซื้อที่ดินทั้งสามแปลงในราคา 6,000,000 บาท แต่ผู้คัดค้านที่ 2 ขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 ในราคารวมกัน 4,500,000 บาท ผิดปกติวิสัยของวิญญูชน ที่จะยอมขายขาดทุนถึง 1,500,000 บาท ในระยะเวลาเพียง 4 เดือน ประการที่ 4 การที่ผู้คัดค้านที่ 3 ชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 จำนวน 4,000,000 บาท ยังคงค้างชำระ 500,000 บาท ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมอบโฉนดให้ผู้คัดค้านที่ 2 ยึดถือไว้ประกัน เมื่อผู้คัดค้านที่ 3 ชำระเงินส่วนที่เหลือเสร็จแล้ว ผู้คัดค้านที่ 3 ชำระเงินส่วนที่เหลือเสร็จสิ้นแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ก็จะมอบโฉนดที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 นั้น เป็นการผิดปกติวิสัยของวิญญูชน ที่จดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินมาแล้ว แต่ยังไม่รับโฉนดที่ดินเชื่อได้ว่าเป็นเพียงการโอนเพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนเท่านั้น เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 3 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ได้รับโอนที่ดินทั้งสามแปลงตามรายการที่ (14) ถึง (16) มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายปลูกสร้างอาคาร 5 ชั้น ตามรายการที่ (24) ทรัพย์สินดังกล่าวจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามประการต่อไปว่า ในการพิพากษาคดีนี้ซึ่งเป็นคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 หรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่า ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาหรือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3271/2545 ให้ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 นายพัฒพงษ์และนางอนงค์ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ค.5 ศาลอาญาเคยมีคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.9358/2545 ให้ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ตามสำเนาคำพิพากษาเอกสารหมาย ค.6 และศาลอาญาเคยมีคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ม.148/2545 ให้ยกฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามสำเนาคำพิพากษาหมาย ค.7 คดีทั้งสามถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอาญาตามลำดับ เมื่อพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 บัญญัติให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับในการดำเนินการทางศาล ศาลจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาดังกล่าว นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวมิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดดังที่ผู้คัดค้านทั้งสามกล่าวอ้างในฎีกา หรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2542 จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสามที่ได้มาก่อนวันดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความรับผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตาคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานโดยมิต้องคำนึงถึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 - 41/2546 ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง แม้ว่าพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง จะบัญญัติให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงก็ตาม แต่คดีนี้ถือว่าเป็นคดีแพ่ง การที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นไม่ชอบเพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแม้จะไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดและแม้จะให้เป็นพับกันไป ก็เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 167 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรมีคำสั่งเพิ่มเติมให้ถูกต้อง"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ