ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีฟ้องขับไล่ที่มีทุนทรัพย์รวม: การจำกัดสิทธิอุทธรณ์และการพิจารณาคดีส่วนที่มีทุนทรัพย์
การฟ้องคดีขับไล่หาได้มีความหมายเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์แต่เพียงอย่างเดียวเสมอไปเพราะเป็นคนละเรื่องกัน
การที่โจทก์ฟ้องขับไล่เป็นการฟ้องตั้งสิทธิอันเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องผิดสัญญาเช่าและไม่ประสงค์จะให้จำเลยอยู่ในตึกแถวพิพาทต่อไป อันเป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่การที่โจทก์เรียกค่าเช่าที่ค้างชำระก่อนบอกเลิกสัญญาเช่า และค่าเสียหายภายหลังจากการบอกเลิกสัญญาเช่าเข้ามาด้วยรวมเป็นเงิน 186,000 บาท คดีในส่วนหลังนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องแม้คดีฟ้องขับไล่ซึ่งเป็นคดีหลักหรือคดีประธานจำเลยทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทในอัตราค่าเช่าเดือนละ 600 บาท และศาลชั้นต้นจะกำหนดค่าเสียหายหลังจากบอกเลิกสัญญาเช่าให้เดือนละ 20,000 บาท ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าเช่าขณะยื่นคำฟ้อง เพราะเป็นเพียงแต่อาจให้เช่าได้ในอัตราดังกล่าวเท่านั้น จึงต้องฟังว่าตึกแถวพิพาทมีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคสอง แต่เมื่อคดีนี้เป็นทั้งคดีไม่มีทุนทรัพย์และคดีมีทุนทรัพย์รวมกันมาเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 125,920 บาท จึงเกินกว่า 50,000 บาท ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
การอุทธรณ์เป็นสิทธิของคู่ความฝ่ายที่แพ้คดี เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ได้ตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่คำสั่งหรือคำพิพากษานั้น กฎหมายบัญญัติให้เป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทั้งการจำกัดสิทธิอุทธรณ์ก็ควรพิจารณาโดยเคร่งครัด เมื่อจำเลยถูกจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เป็นคดีฟ้องขับไล่ แต่จำเลยยังมีสิทธิในการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่เป็นส่วนของคดีมีทุนทรัพย์ได้
การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเมื่อเป็นการไม่ชอบ และเห็นได้ชัดว่าคดีส่วนที่มีทุนทรัพย์ตามฟ้องและที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่อาจจะวินิจฉัยคดีนี้ไปเสียทีเดียวได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่