ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้มีคำสั่งให้เงินสดที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นแอคคอร์ด หมายเลขทะเบียน กค 5039 ปัตตานี เป็นเงิน 280,000 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้คืนรถยนต์แก่ผู้คัดค้าน หากไม่อาจสั่งคืนรถยนต์ได้ ขอให้คืนเป็นเงิน 433,948 บาท แก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เงินสดที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อฮอนด้า รุ่นแอคคอร์ด สีน้ำตาล หมายเลขทะเบียน กค 5039 ปัตตานี เป็นเงิน 280,000 บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นแอคคอร์ด หมายเลขทะเบียน กค 5039 ปัตตานี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2556 นางสาวรอฮานา ภริยาของนายมะสกรี เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวจากผู้คัดค้าน ในราคาเช่าซื้อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 1,080,000 บาท นางสาวรอฮานาชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้าน 43 งวด และชำระงวดที่ 44 บางส่วน เป็นเงิน 646,052 บาท แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 44 ถึงงวดที่ 72 เป็นเงิน 433,948 บาท โดยเงินค่างวดเช่าซื้อดังกล่าวเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง (1) ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านว่า รถยนต์พิพาทเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานและผู้คัดค้านรู้ว่านำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดชำระค่างวดเช่าซื้อรถยนต์พิพาทหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 วรรคห้า ให้นิยามคำว่า ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หมายความว่า
(1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน
(2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ
(3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2)
ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (1) (2) หรือ (3) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด ตามบทบัญญัติดังกล่าวทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมีความหมายรวมถึงทรัพย์สินที่เปลี่ยนสภาพหรือได้มาจากการใช้จ่ายเงินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน และศาลมีอำนาจสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินได้ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 เว้นแต่ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า (1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ (2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า นางสาวรอฮานาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากผู้คัดค้าน โดยนางสาวรอฮานานำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาชำระค่างวดเช่าซื้อ แต่นางสาวรอฮานาก็มีเพียงสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์พิพาท โดยจะได้กรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทเมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว เมื่อนางสาวรอฮานายังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทจึงยังคงเป็นของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านเป็นสถาบันการเงินประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์เป็นปกติธุระในลักษณะเป็นการให้สินเชื่อรูปแบบหนึ่ง กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้คัดค้านให้นางสาวรอฮานาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทและรับเงินตามสัญญาเช่าซื้อโดยสุจริตไม่ทราบว่านางสาวรอฮานานำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าวมาชำระเงินค่างวดเช่าซื้อบางส่วน ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะขอคืนรถยนต์พิพาทได้ อย่างไรก็ตามเมื่อนางสาวรอฮานานำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทบางส่วนให้แก่ผู้คัดค้าน รถยนต์พิพาทจึงมีส่วนที่เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดินรวมอยู่ด้วย เมื่อสัญญาเช่าซื้อ ระบุว่า รถยนต์พิพาทมีราคาเงินสด 778,200 บาท ผู้คัดค้านใช้เงินลงทุนในการให้นางสาวรอฮานาเช่าซื้อรถยนต์พิพาท 778,200 บาท ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้คัดค้านชำระไป ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกเก็บจากนางสาวรอฮานาเมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านแล้วบางส่วน ส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านมีสิทธิได้รับคืนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม เมื่อระยะเวลาเช่าซื้อมีกำหนด 72 งวด คิดเป็นเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่เป็นราคารถยนต์พิพาทงวดละ 14,018 บาท นางสาวรอฮานาชำระค่าเช่าซื้อรวม 43 งวด และชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 44 บางส่วน เป็นเงินรวม 603,757.18 บาท จึงเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ยังขาดอยู่ซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะได้รับ 174,442.82 บาท เมื่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนำรถยนต์พิพาทออกขายทอดตลาดแล้ว ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทเป็นเงิน 174,442.82 บาท พร้อมดอกผล ส่วนที่เหลือพร้อมดอกผลจึงตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของผู้ร้อง ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทแก่ผู้คัดค้านเป็นเงิน 174,442.82 บาท พร้อมดอกผล นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ