คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกบริษัท ค. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 เรียกนายเฉลียวหรือสันต์ทศน์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 2 เรียกบริษัท ล. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในสำนวนแรกและเป็นจำเลยที่ 1 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3 เรียกนายจิตรกร ซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 ในสำนวนแรกและเป็นจำเลยที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 4 เรียกนายสุดเขตต์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 5 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 5 เรียกนายกอบกาญจน์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 6 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 6 และเรียกนายโศจิวัจน์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 7 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 7
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 264, 265 และ 268 ริบของกลาง และขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาต่าง ๆ ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ กับขอให้นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 8 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3990/2558 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2493/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.434/2560 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.734/2560 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 6 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.832/2560 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 6 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3639/2560 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.600/2561 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1042/2561 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3317/2561 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3460/2562 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.632/2562 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.990/2562 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1515/2562 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1857/2562 และต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2693/2562 ส่วนจำเลยที่ 7 ขอให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.508/2558 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1073/2558 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3990/2558 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2493/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4025/2558 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2495/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.489/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2500/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3857/2558 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3158/2561 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.4030/2558 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2492/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.532/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2497/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1689/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2498/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1696/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2496/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1910/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2499/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1977/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2491/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2030/2559 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2494/2559 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.832/2560 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1397/2560 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1757/2560 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.654/2562 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3639/2560 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.600/2561 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1041/2561 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1042/2561 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1502/2561 ต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1515/2562 และต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2385/2562 ของศาลชั้นต้น
โจทก์ไม่มีตัวจำเลยที่ 5 และที่ 6 มาฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 และที่ 6
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 7 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 7 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาต่าง ๆ ของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (เดิม), 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษปรับจำเลยที่ 3 กระทงละ 10,000 บาท รวม 3 กระทง เป็นปรับ 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 4 กระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 4 ต่อนั้น เนื่องจากไม่ปรากฏว่าคดีอื่นศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 4 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 3 ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องมีบุคคลนำหนังสือรับรองผลงานการรถไฟแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.16 และหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.25 ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมืองพัทยาและนายกเมืองพัทยาเพื่อเข้าประกวดราคาค่าก่อสร้างและปรับปรุงคลองนกยางระยะที่ 2 ส่วนที่เหลือกับเมืองพัทยา ในขั้นตอนการทำสัญญามีบุคคลนำหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.26 ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมืองพัทยาและนายกเมืองพัทยาเพื่อเข้าทำสัญญาจ้างก่อสร้าง ต่อมามีบุคคลนำหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.27 ไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมืองพัทยาและนายกเมืองพัทยาเพื่อขอรับเงินค่าจ้างล่วงหน้า หลังจากจ่ายเช็คให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว เมืองพัทยาตรวจสอบพบว่า เอกสารหมาย จ.16 และ จ.25 ถึง จ.27 เป็นเอกสารราชการและเอกสารสิทธิปลอม คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีคู่ความฎีกา ทั้งโจทก์ไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ตามข้อ (1) และ (2) กับไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย 3 และที่ 4 ตามข้อ (1) (3) (5) และ (7) จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 7 กระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตามข้อ (3) ถึง (8) หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีจะฟังได้ตามที่โจทก์อ้างว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 6 ไม่ใช่คำซัดทอด แต่โจทก์ก็ยอมรับว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานบอกเล่า ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง ห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่จะมีเหตุผลตาม (1) และ (2) จึงต้องพิจารณาว่าพยานบอกเล่านี้เข้าข่ายของข้อยกเว้นดังกล่าวหรือไม่ เมื่อคดีนี้เหตุเกิดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2551 ภายหลังมีการตรวจสอบพบว่าเอกสารสิทธิของธนาคารดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม โดยเจ้าหน้าที่เมืองพัทยาได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ในปี 2553 ตามคำเบิกความของพันตำรวจโทภพกานต์ ส่วนการสอบปากคำของจำเลยที่ 6 เริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 ในฐานะพยานเรื่อยมา จนสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2558 วันที่จำเลยที่ 6 ให้การในฐานะผู้ต้องหาจึงไม่ได้ใกล้ชิดกับช่วงเวลาที่มีการกระทำความผิด ประกอบกับจำเลยที่ 6 ให้การเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ว่า จำเลยที่ 6 หลบหนี เพราะเกรงว่าจำเลยอื่นจะโกรธแค้นและทำร้าย เหตุที่รับสารภาพเพราะคิดว่าสักวันหนึ่งจำเลยอื่นจะต้องติดตามพบจำเลยที่ 6 จึงตัดสินใจเข้าพบพนักงานสอบสวน คำให้การของจำเลยที่ 6 แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 6 มีข้อขัดแย้งกับจำเลยอื่นอยู่ คำให้การเช่นนี้ไม่แน่ว่าจะเป็นไปตามความเป็นจริง ทั้งจำเลยที่ 6 เข้าพบพนักงานสอบสวนเอง แต่โจทก์กลับไม่สามารถนำจำเลยที่ 6 มาเบิกความในชั้นพิจารณา ดังนั้น ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านี้น่าสงสัยว่าจะพิสูจน์ความจริงได้หรือไม่ และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเหตุใดโจทก์จึงไม่สามารถนำจำเลยที่ 6 มาเบิกความได้ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 6 ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ ถือเป็นพยานบอกเล่าที่มิให้ศาลรับฟัง เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นอีกที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 7 กระทำความผิดจริง พยานหลักฐานของโจทก์จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 7 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฎีกา กรณีไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของจำเลยที่ 7 ต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 4 ข้อสุดท้ายว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามข้อ (2) หรือไม่ เห็นว่า คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 6 เป็นพยานบอกเล่าจึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนพยานหลักฐานอื่น ๆ ของโจทก์เท่าที่นำสืบมาก็ไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามข้อ (2) เลย นอกจากการที่จำเลยที่ 3 รวมตัวกับจำเลยที่ 1 เป็นกิจการร่วมค้าเพื่อเข้าทำสัญญากับเมืองพัทยา และจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 3 ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำเอกสารต่าง ๆ ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่เมืองพัทยา ดังนั้น ลำพังข้อเท็จจริงดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามข้อ (2) เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังได้เช่นนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยอีก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 4 นั้น เห็นว่า พยานโจทก์หลายปาก เช่น นางฉลวย นางอุษา นายพิศาล และพันตำรวจโทภพกานต์ต่างเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในชั้นต้นมีการตรวจสอบหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.27 แล้วได้รับแจ้งว่าเป็นเอกสารจริง เท่ากับว่าเอกสารดังกล่าวไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ง่าย ทั้งนายชัยธวัฒน์ พยานโจทก์ซึ่งเคยทำงานกับจำเลยที่ 3 เบิกความว่า จำเลยที่ 4 เป็นวิศวกรโครงการ โดยปฏิบัติงานอยู่ที่หน้างาน ไม่ค่อยเข้ามาในสถานที่ทำการของจำเลยที่ 3 นางชันญานันทน์ พยานโจทก์ซึ่งเคยทำงานกับจำเลยที่ 3 เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถามค้านว่า จำเลยที่ 4 ไม่ใช่บุคคลที่จ่ายเงินเดือนให้แก่พยาน จำเลยที่ 4 ไม่ได้เข้ามาทำงานที่บริษัท โดยจะเข้ามาเป็นครั้งคราว จำเลยที่ 4 ไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยในการจัดทำเอกสารไปยื่นต่อเมืองพัทยา หลังจากทำเอกสารดังกล่าวแล้ว จะมีการนำไปใส่ซองและปิดผนึกก่อนที่จะมอบหมายให้นายชัยธวัฒน์ไปยื่นต่อเมืองพัทยา พยานหลักฐานของโจทก์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทราบว่าหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.27 เป็นเอกสารสิทธิปลอม กับจำเลยที่ 4 น่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำเอกสารของจำเลยที่ 3 โดยตรง เจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 4 ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ในเรื่องนี้มีน้ำหนักน้อย ยังไม่อาจรับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 4 รู้ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.27 เป็นเอกสารสิทธิปลอมอันจะเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 4 ดังนั้น ลำพังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์นำมาพิจารณาว่า จำเลยที่ 4 เข้ารับเป็นผู้จัดการกิจการร่วมค้ามีการกระทำต่าง ๆ และนำหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.27 ไปยื่นต่อเมืองพัทยา โดยสถานะตามวิสัยของผู้อยู่ในวงการค้าก่อนลงลายมือชื่อย่อมมีหน้าที่ต้องตรวจสอบเอกสารก่อน จำเลยที่ 4 จึงปัดความรับผิดอ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.25 ถึง จ.27 ไม่ได้ จำเลยที่ 4 รู้จักเจ้าหน้าที่เมืองพัทยาหลายคน และต้องรู้ความเป็นมาก่อนที่จะรับกระทำการให้จำเลยที่ 3 รวมถึงสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของจำเลยที่ 3 หากสุจริตแล้วเหตุใดไม่มีการสอบถามว่าได้หนังสือสัญญาค้ำประกันมาได้อย่างไร ล้วนเป็นข้อเท็จจริงแวดล้อมที่เชื่อมโยงเพื่อแสดงให้น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดดังกล่าวเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังขึ้นพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์