โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เพิ่มโทษจำเลยทั้งสามตามกฎหมาย และริบของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 กึ่งหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกได้อีก คงเพิ่มโทษได้แต่เฉพาะโทษปรับเป็น 1,500,000 บาท จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 750,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละตลอดชีวิต และปรับคนละ 1,000,000 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่สามารถเพิ่มโทษจำคุกได้ คงเพิ่มโทษได้เฉพาะโทษปรับ เป็นปรับคนละ 1,500,000 บาท ลดโทษคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 53) คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 1,000,000 บาท หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา ร้อยตำรวจโท นิกร และดาบตำรวจ เอกณรงค์ กับพวก เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ จับกุมจำเลยทั้งสามได้ที่ห้องพักของโรงแรมแม่แตง หมายเลข 207 ที่เกิดเหตุ พร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีน 3,606 เม็ด น้ำหนัก 353.47 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 66.455 กรัม คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่มีการตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสามสืบเนื่องมาจากก่อนเกิดเหตุดาบตำรวจ เอกณรงค์สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันเช่ารถยนต์ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนที่อำเภอเชียงดาวและอำเภอแม่แตงมาจำหน่ายแก่ผู้ค้ารายย่อยในอำเภอเมืองเชียงใหม่ โดยสายลับแจ้งว่า จำเลยที่ 1 เช่ารถยนต์เก๋งโตโยต้า สีขาว ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ดาบตำรวจ เอกณรงค์จึงเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเกี่ยวกับการสืบทราบและได้รับการบอกเล่าจากสายลับโดยตรง แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนสายลับเป็นพยานและโจทก์ไม่ได้นำสายลับมาเบิกความเป็นพยาน ก็ไม่มีผลทำให้คำเบิกความของดาบตำรวจ เอกณรงค์ เกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 กับพวกดังกล่าวรับฟังไม่ได้ เมื่อดาบตำรวจ เอกณรงค์ สืบทราบและรับแจ้งจากสายลับแล้วได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ หลังจากนั้นมีการวางแผนจับกุมโดยแบ่งกำลังเจ้าพนักงานตำรวจเป็น 2 ชุด ติดตามหารถยนต์ตามที่สายลับแจ้งให้ดาบตำรวจ เอกณรงค์ ทราบ จนกระทั่งได้รับแจ้งจากสายลับว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าจอดอยู่ที่ลานจอดรถโรงแรมแม่แตง พยานโจทก์ทั้งสองจึงไปยังบริเวณดังกล่าว ทั้งได้ความจากคำเบิกความของดาบตำรวจ เอกณรงค์ ว่า เมื่อพบรถยนต์ตามที่สายลับแจ้งจอดอยู่ที่บ้านทับเดื่อ ตำบลอินทขิล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เห็นชาย 2 คนยืนคุยกัน แต่ไม่ได้สังเกตเห็นหน้าของชายดังกล่าว และไม่สามารถที่จะเข้าตรวจค้นได้เนื่องจากเป็นระยะเวลาช่วงดึก จึงขับรถเลยไป แสดงให้เห็นว่าดาบตำรวจ เอกณรงค์ได้ติดตามหารถยนต์คันที่ได้รับแจ้งจากสายลับจริง เมื่อดาบตำรวจ เอกณรงค์ ไม่ได้ยืนยันว่าชาย 2 คนที่พบเห็นเป็นจำเลยที่ 1 การที่ดาบตำรวจ เอกณรงค์ ไม่ได้เบิกความว่าขณะนั้นเห็นจำเลยที่ 1 ถือสิ่งของอยู่ในมือหรือมีการส่งมอบสิ่งของแก่กันหรือรับยาเสพติดจากบุคคลที่จำเลยที่ 1 พูดคุยด้วย จึงมิใช่ข้อพิรุธ นอกจากนี้ดาบตำรวจ เอกณรงค์ ให้การชั้นสอบสวนว่า ครั้งสุดท้ายนายเอกกับพวกได้ไปจอดรถยนต์ที่โรงแรมแม่แตง แล้วพากันหายเข้าไปในโรงแรม การที่ดาบตำรวจ เอกณรงค์ เบิกความว่า ได้รับแจ้งจากสายลับว่ารถยนต์ที่ติดตามจอดอยู่ที่ลานจอดรถของโรงแรมแม่แตง จึงเป็นการเบิกความอธิบายให้ทราบว่าพยานรู้ได้อย่างไรว่ารถยนต์ที่ติดตามไปจอดที่ลานจอดรถของโรงแรมแม่แตง กรณีจึงมิใช่เป็นการขัดแย้งกับคำให้การชั้นสอบสวนของดาบตำรวจ เอกณรงค์ที่ว่า เห็นจำเลยที่ 1 กับพวกหายเข้าไปในโรงแรมแม่แตงแต่อย่างใด และพยานโจทก์ทั้งสองยังเบิกความตรงกันว่า ร้อยตำรวจโท นิกร ได้สอบถามพนักงานโรงแรมว่าคนขับรถยนต์เก๋งสีขาวพักอยู่ห้องใด ได้รับแจ้งว่าอยู่ห้องหมายเลข 207 ทำให้เชื่อได้ว่าสายลับได้แจ้งข้อมูลว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าจอดอยู่ที่ลานจอดรถโรงแรมแม่แตงแก่ดาบตำรวจ เอกณรงค์จริง มิฉะนั้นพยานโจทก์ทั้งสองคงไม่เดินทางไปยังลานจอดรถของโรงแรมแม่แตงจนสามารถตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ห้องพักที่เกิดเหตุได้ เมื่อก่อนตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสาม พยานโจทก์ทั้งสองได้ซุ่มดูอยู่หน้าห้องที่เกิดเหตุเป็นเวลานานถึง 30 นาที จนกระทั่งจำเลยที่ 1 เปิดประตูห้องพักที่เกิดเหตุออกมา พยานโจทก์ทั้งสองกับพวกจึงแสดงตัวและขอตรวจค้น แสดงให้เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสองรอโอกาสที่จะเข้าตรวจค้นห้องพักที่เกิดเหตุ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่าหลังจากที่พยานโจทก์ทั้งสองแสดงตัวต่อจำเลยที่ 1 แล้ว พยานโจทก์ทั้งสองกับพวกได้รีบเข้าไปตรวจค้นในห้องพักที่เกิดเหตุทันที โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในห้องพักที่เกิดเหตุยังไม่ทันรู้ตัว ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ทันไหวตัวนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปซุกซ่อนเสียก่อน แม้พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า พบจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั่งอยู่บนพื้นห้องในลักษณะกำลังนับเมทแอมเฟตามีน ขัดแย้งกับลักษณะของเมทแอมเฟตามีนที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความ และบันทึกการจับกุมกับบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสองที่ไม่ได้ระบุถึงเรื่องดังกล่าวไว้ก็ตาม แต่ก็มิใช่ข้อสาระสำคัญจนทำให้รับฟังไม่ได้ว่าพบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่พื้นห้องพักที่เกิดเหตุ เพราะสาระสำคัญอยู่ที่ว่ามีการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่พื้นห้องพักที่เกิดเหตุดังที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความไว้หรือไม่ ประกอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เบิกความรับว่า เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่ห้องพักที่เกิดเหตุจริง เมื่อพยานโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วยตนเอง การที่พยานโจทก์ทั้งสองไม่ได้บันทึกภาพขณะตรวจค้นไว้เป็นหลักฐานย่อมไม่ทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองมีน้ำหนักลดน้อยลง และพยานโจทก์ทั้งสองเป็นพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ร่วมกันในการตรวจค้นจับกุมจำเลยทั้งสามมาตั้งแต่ต้น การที่พยานโจทก์ทั้งสองให้การในชั้นสอบสวนต่อพนักงานสอบสวนโดยมีรายละเอียดเหมือนกันจึงไม่ทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองเสียไปเช่นกัน นอกจากนี้ตามบันทึกการจับกุม จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายหวูหวินเสิบ ชาวเขาเผ่าลีซอ โดยไปซื้อที่บริเวณหมู่บ้านทับเดื่อก่อนที่จะเข้ามาพักที่โรงแรมในราคาถุงละ 8,700 บาท ในการไปซื้อและรับเมทแอมเฟตามีนครั้งนี้มีจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นเจ้าของเงินทุนที่ใช้ซื้อเมทแอมเฟตามีน และจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับรถยนต์ แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 บัญญัติมิให้นำคำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐานก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความอื่นซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งกฎหมายมิได้ห้ามนำมารับฟังเสียทีเดียว ที่จำเลยที่ 1 เบิกความว่า เหตุที่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม เนื่องจากเจ้าพนักงานบอกให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ โดยไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 อ่าน และจำเลยที่ 2 เบิกความว่า เจ้าพนักงานตำรวจนำเอกสารมาให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกาย จึงเกิดความกลัว และลงชื่อในเอกสารดังกล่าว โดยเจ้าพนักงานตำรวจมิได้ให้จำเลยที่ 2 อ่าน มิฉะนั้นแล้วคงไม่ต้องทำบันทึกการจับกุมก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่ง่ายต่อการกล่าวอ้าง ทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยโดยมิได้ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองผู้ร่วมจับกุมในข้อนี้ไว้ด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มานำสืบในภายหลังเช่นนี้ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ เชื่อว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การชั้นจับกุมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยความสมัครใจ จึงนำไปรับฟังประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้ออื่นนั้นไม่เป็นสาระแก่การวินิจฉัยเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษานี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 30 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์