โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 64 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 5, 7, 27, 54 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27, 54 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้นช่วยให้คนต่างด้าวที่เข้ามาราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตพ้นจากการจับกุม จำคุก 2 ปี ฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ปรับ 230,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี และปรับ 230,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี และปรับ 115,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 54 ข้อความตอนแรก ลงโทษปรับ 10,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 5,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานให้เข้าพักอาศัย ช่วยซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ซึ่งความผิดฐานนี้ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบความผิดว่า "ผู้ใดรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้..." ดังนั้น การที่จะเป็นความผิดฐานนี้ คนต่างด้าวจะต้องเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัตินี้และผู้กระทำความผิดต้องรู้เหตุดังกล่าวด้วยแต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าคนต่างด้าวดังกล่าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่อาจแปลความว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ เพราะจะเป็นการเกินเลยไปจากบทบัญญัติของกฎหมาย แม้สำเนาบันทึกการจับกุมเอกสารท้ายฟ้องจะพออนุโลมได้ว่าเป็นส่วนประกอบของคำฟ้อง แต่ยังไม่อาจชี้ว่าจำเลยรู้ว่าคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานนอกท้องที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาตชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาบันทึกจับกุมท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง มีข้อความระบุถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์จับกุมซึ่งได้ความว่าจากการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวผู้ถูกจับลำดับที่ 1 ถึงที่ 23 มีใบอนุญาตทำงานอยู่กับนายจ้างในเขตท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ แต่ไม่มีเอกสารอนุญาตให้เพิ่มท้องที่การทำงานมาจากจังหวัดนนทบุรี จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและสำเนาบันทึกการจับกุมท้ายฟ้อง แล้วฟังว่าคนต่างด้าวทั้ง 23 คน ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานและปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 27 และมาตรา 54 ตอนแรก จึงชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้วินิจฉัยเอกสารท้ายอุทธรณ์ของจำเลยแต่เพียงอย่างเดียวดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน