โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 50,262,376.59 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 44,743,955.42 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสามให้การและจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 41,365,056.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 36,169,526.51 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่จำเลยที่ 1 เสร็จสิ้น
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 22,763,235.43 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 7 มีนาคม 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 กับให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้ง) แทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ชนะคดี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์) ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 44,743,955.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2560 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5,518,421.17 บาท ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องโจทก์ทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 20,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายวิเชียรเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 การประปาส่วนภูมิภาคทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างวางท่อน้ำจากอ่างเก็บน้ำ ห. การประปาส่วนภูมิภาค (ชั้นพิเศษ) กับบริษัท บ. ในวงเงิน 883,177,507.09 บาท โดยต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2558 และจะต้องทำงานให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ 5 เมษายน 2559 ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2558 บริษัท บ. ว่าจ้างช่วงให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างวางท่อประปาทั้งหมดตามสัญญาดังกล่าวในราคาค่าจ้าง 835,000,000 บาท โดยต้องทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2558 และจะต้องทำงานให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ 5 เมษายน 2559 เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 โจทก์เสนอราคารับจ้างทำงานก่อสร้างโครงการวางท่อดังกล่าวเฉพาะในส่วนของงานวางท่อเหล็ก Line 12 Line 13 Line 14 และงานภายในสถานีผลิตน้ำ ม. บางส่วนมายังจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 177,383,423.10 บาท ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2558 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วอนุมัติราคาก่อสร้างเป็นเงิน 129,246,529 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยกำหนดเงื่อนไขการจ้างเพิ่มเติมรวม 5 ข้อ และวันที่ 22 ตุลาคม 2558 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์หรือ E – mail ไปถึงโจทก์โดยจ้างโจทก์บริหารค่าวัสดุและค่าแรง งานก่อสร้าง จัดหาและวางท่อน้ำงานดังกล่าว เป็นเงิน 88,643,479 บาท งานท่อ ประสานท่อภายในผังบริเวณเป็นเงิน 6,073,806 บาทส่วนแบ่งค่าบริหารและกำไรเป็นเงิน 22,000,000 บาท รวมงบประมาณทั้งสิ้น 116,717,285 บาท หลังจากนั้นโจทก์ได้เข้าทำงานก่อสร้างวางท่อ Line 12 และ Line 14 โจทก์ได้รับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 แล้ว รวม 13 งวด จำเลยที่ 1 หักเงินประกันผลงานแล้ว โจทก์ได้รับเป็นเงิน 23,599,004.88 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า หนังสือขอแจ้งผลการพิจารณาการจ้างงานวางท่อเหล็ก เกิดนิติสัมพันธ์เป็นสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า สัญญาจะเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปเพื่อก่อสิทธิและหน้าที่ผูกพันกันเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ โดยมีคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกัน สัญญาจึงจะเกิด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอรับจ้างงานก่อสร้างโครงการวางท่อในส่วนของงานวางท่อเหล็ก Line 12 Line 13 Line 14 และงานก่อสร้างในสถานีผลิตน้ำ ม. บางส่วนแบบสัญญาจ้างเหมา (Lump Sum Contract) รวมเป็นเงิน 177,383,423.10 บาท จำเลยที่ 1 พิจารณาคำเสนอของโจทก์แล้วได้ปรับลดราคาจ้างลงเป็นเงิน 129,246,529 บาท ทั้งกำหนดเงื่อนไขการว่าจ้างให้โจทก์ปฏิบัติ 5 ข้อ ได้แก่ ข้อ 1 ให้โจทก์วาง BG 5% ของมูลค่าจ้างวางค้ำประกันสัญญาจ้าง ข้อ 2 ให้โจทก์วาง BG 5% ของมูลค่าจ้างวางค้ำประกันผลงานเป็นเวลา 24 เดือน ข้อ 3 การจ้างไม่มีเงินล่วงหน้า ข้อ 4 ผู้รับจ้างต้องดำเนินการทำงานภายใต้สัญญาจ้างหลักของบริษัท บ. กับการประปาส่วนภูมิภาค และข้อ 5 ราคารวมค่าดำเนินการทั้งสิ้น รวมการซ่อมแซมผิวถนนทางหลวงของหน่วยงานท้องถิ่นจนแล้วเสร็จส่งงานการประปาส่วนภูมิภาค และให้โจทก์แจ้งกลับมายังจำเลยที่ 1 ตามหนังสือขอแจ้งผลการพิจารณาการจ้างงานวางท่อเหล็กฯ โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว หนังสือของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวมีข้อความเพิ่มเติม มีข้อจำกัดหรือมีข้อแก้ไข โดยมีลักษณะเป็นการต่อรองคำเสนอของโจทก์ ดังนั้น คำสนองของจำเลยที่ 1 จึงไม่ตรงกับคำเสนอของโจทก์ ถือว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับคำเสนอของโจทก์และเป็นคำเสนอของจำเลยที่ 1 ขึ้นใหม่ในตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 359 วรรคสอง สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จะเกิดขึ้นต่อเมื่อคำบอกกล่าวสนองของโจทก์ไปถึงจำเลยที่ 1 ผู้เสนอ เพราะเป็นสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 วรรคหนึ่ง และมาตรา 169 ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์มีพยานหลักฐานที่สนับสนุนว่าคำสนองของโจทก์ได้ไปถึงจำเลยที่ 1 คงมีแต่นายสุวิจักขณ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความแต่เพียงลอย ๆ ว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 โจทก์มีหนังสือตอบรับราคางานก่อสร้างและเงื่อนไขทั้งห้าข้อไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว โดยนายสุวิจักขณ์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามอ้างว่า โจทก์ส่งหนังสือดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยทางผู้ส่งเอกสาร (Messenger) แต่โจทก์มิได้นำผู้ส่งเอกสารดังกล่าวที่กล่าวอ้างมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 1 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับหนังสือขอยืนยันตอบรับราคาก่อสร้างจากโจทก์ ทั้งได้ความตามหนังสือขอแจ้งยกเลิกการพิจารณาการจ้างวางท่อเหล็กลงวันที่ 20 ตุลาคม 2558 สรุปใจความได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้แจ้งผลการพิจารณาราคาต่อรองให้โจทก์ทราบแล้วและระยะเวลาดังกล่าวล่วงเลยมาแล้วระยะหนึ่ง โจทก์ไม่ตอบตกลงราคาที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้ทราบว่าจะตอบตกลงหรือไม่อย่างเป็นทางการ จำเลยที่ 1 จำเป็นต้องเร่งเดินหน้าจัดซื้อท่อเหล็กทั้งหมดและจัดจ้างผู้รับจ้างรายอื่นที่มีความพร้อมและทำงานในราคาที่จำเลยที่ 1 เสนอเข้าดำเนินงานวางท่อเหล็กและอุปกรณ์ จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่า โจทก์มิได้มีคำสนองต่อคำเสนอของจำเลยที่ 1 เพราะหากโจทก์มีหนังสือตอบรับยืนยันราคาก่อสร้างมาถึงจำเลยที่ 1 ดังที่กล่าวอ้างแล้วย่อมไม่มีเหตุผลที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ต้องมีหนังสือบอกกล่าวยกเลิกคำเสนอ จึงฟังได้ว่าโจทก์มิได้มีคำสนองไปถึงจำเลยที่ 1 ดังนั้น หนังสือขอแจ้งผลการพิจารณาการจ้างวางท่อเหล็ก ไม่ก่อเกิดเป็นสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์มิได้สนองรับคำเสนอของจำเลยที่ 1 ภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนอง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิถอนคำเสนอของตนได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ถอนคำเสนอแล้วคำเสนอเป็นอันสิ้นความผูกพัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 355 และมาตรา 357 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์บริหารค่าวัสดุและค่าแรงในงานก่อสร้างวางท่อ Line 12 Line 13 และ Line 14 และงานภายในสถานีผลิตน้ำ ม. บางส่วนตามฟ้องแย้งหรือไม่ คู่ความนำสืบรับกันว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ถอนคำเสนอแล้ว นายวิเชียร กรรมการโจทก์และนายสุวิจักขณ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาพบจำเลยที่ 2 ที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 มีการเจรจาเกี่ยวกับการรับจ้างงานก่อสร้างโครงการวางท่อดังกล่าว โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ตกลงจ้างโจทก์เป็นผู้บริหารทำงานก่อสร้างวางท่อ Line 12 Line 13 Line 14 และงานภายในสถานีผลิตน้ำ ม. บางส่วน โดยปรับลดปริมาณงานและค่าจ้างลงจากเดิมที่โจทก์เคยมีคำเสนอตามปริมาณงานที่กำหนดไว้ในบัญชีแสดงปริมาณวัสดุอุปกรณ์และราคาก่อสร้าง ทั้งกำหนดราคาก่อสร้างใหม่ โดยโจทก์มีหน้าที่บริหารงานก่อสร้าง จัดหาวัสดุ หาผู้รับจ้างการขออนุมัติการทำงานต่าง ๆ คุมงาน ตรวจสอบ การติดตั้งและรับของรวมถึงส่งมอบงานในส่วนที่โจทก์รับผิดชอบจนจำเลยที่ 1 สามารถส่งมอบงานและเบิกเงินค่าจ้างได้ แต่ในการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์และสั่งจ้างโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าทำสัญญาโดยตรงกับผู้ขายสินค้าและผู้รับจ้าง โดยโจทก์จะเป็นผู้แจ้งชื่อผู้ขายและผู้รับจ้างให้จำเลยที่ 1 ทราบหรือโจทก์จะเข้าทำสัญญารับจ้างเองก็ได้ สำหรับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตั้งในงานของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าช่วงเวลาใดของการก่อสร้างจะใช้อุปกรณ์ชนิดใดปริมาณเท่าใด จำเลยที่ 1 จะเป็นฝ่ายจัดซื้อกับผู้ขายที่โจทก์จัดหาให้หรือจำเลยที่ 1 จะซื้อกับผู้ขายอื่นที่ให้ราคาต่ำกว่าเพื่อส่งมอบให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ตั้งงบประมาณในการก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 116,717,285 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยแบ่งเป็นงานก่อสร้าง จัดหาและวางท่อน้ำเป็นเงิน 88,643,479 บาท งานท่อ ประสานท่อภายในผังบริเวณเป็นเงิน 6,073,806 บาท รวมเป็นเงิน 94,717,285 บาท ส่วนแบ่งค่าบริหารและกำไรเป็นเงิน 22,000,000 บาท หากโจทก์บริหารงานและทำงานเสร็จ โดยใช้ค่าใช้จ่ายเงินค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงไม่เกินวงเงิน 94,717,285 บาท โจทก์จะได้รับเงินในส่วนที่เหลือและจะได้รับส่วนแบ่งค่าบริหารและกำไรเป็นเงิน 22,000,000 บาท หากค่าใช้จ่ายในส่วนวัสดุและค่าแรงเกินวงเงิน 94,717,285 บาท ส่วนที่เกินจะต้องนำไปหักออกจากส่วนแบ่งค่าบริหารและกำไร ส่วนโจทก์มีนายสุวิจักขณ์เป็นพยานเบิกความยอมรับว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 มีการเจรจากันโดยจำเลยที่ 1 เสนอจ้างโจทก์บริหารค่าวัสดุและค่าแรง แต่โจทก์ปฏิเสธบอกปัดข้อเสนอของจำเลยที่ 1 เห็นว่า หลังจากนายวิเชียรกรรมการโจทก์และนายสุวิจักขณ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เจรจากับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 แล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีการตกลงเงื่อนไขหรือราคาค่าจ้างกันอีก แต่โจทก์ได้เข้าทำงานในโครงการก่อสร้างวางท่อตามที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้าง ประกอบกับโจทก์บรรยายคำฟ้องข้อ 4 ย่อหน้าที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 แจ้งสรุปยอดค่าวัสดุที่สั่งซื้อ จ่ายค่าท่อเหล็กและอุปกรณ์ค่าใช้จ่ายตามขอบเขตตามสัญญา Line 12 Line 13 และ Line 14 เป็นเงิน 63,865,162.19 บาท หักค่าท่อเหล็กขนาด 700 มิลลิเมตร คงเหลือคืน 24 ท่อน เป็นเงิน 767,318.40 บาท รวมเป็นเงิน 63,097,943.79 บาท อันเป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายซื้อท่อเหล็กและอุปกรณ์ที่ใช้ในงานก่อสร้างดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้ความว่าโจทก์มิได้วาง BG 5% ของมูลค่าจ้างวางค้ำประกันสัญญาจ้าง วาง BG 5% ของมูลค่าจ้างวางค้ำประกันผลงาน 24 เดือน ซึ่งเป็นเงื่อนไขการจ้างตามหนังสือขอแจ้งผลการพิจารณาจ้างงานวางท่อเหล็ก ตามคำเสนอของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นนายสุวิจักขณ์พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างวางท่อดังกล่าวทั้งสิ้น และโจทก์เบิกค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 แล้ว รวม 13 งวด ซึ่งเป็นการเบิกจ่ายค่าแรงและค่าดำเนินการโดยจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายจัดหาท่อเหล็กและอุปกรณ์ อีกทั้งยังได้ความตามหนังสือขอเบิกเงินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานบางส่วนว่า โจทก์ขอเบิกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานบางส่วนที่โจทก์ได้สำรองจ่ายไปก่อนประจำเดือนตุลาคม 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2559 หลายรายการ อาทิเช่น ค่าแรง ค่าทราย ค่าพัดลมดูดอากาศ ค่าเดินทางภายในประเทศ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าธรรมเนียมธนาคาร เงินทดรองจ่าย ค่าวารสารและสิ่งพิมพ์ ค่าวัสดุสำนักงาน ค่าพาหนะ ค่าน้ำมันและอื่น ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นผู้บริหารค่าวัสดุและค่าแรงในการทำงานก่อสร้างวางท่อ Line 12 Line 13 Line 14 และงานภายในสถานีผลิตน้ำ ม. บางส่วน โดยโจทก์เป็นผู้จัดหาผู้รับเหมาค่าแรงและค่าก่อสร้างแล้วแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเพื่อให้ผู้รับจ้างเข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 หรือโจทก์จะเข้าทำงานเองก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนฟ้องคดีนี้นายวิเชียรกรรมการโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าก่อสร้างรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2560 โดยหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์วางท่อรวมค่าของและค่าแรงเป็นเงิน 116,717,285 บาท ค่าบริหาร กำไร เป็นเงิน 22,000,000 บาท สอดคล้องกับเอกสารที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าเป็นสัญญาจ้างบริหารงานวางท่อระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์บริหารค่าวัสดุและค่าแรงในงานก่อสร้างวางท่อ Line 12 Line 13 Line 14 และงานภายในสถานีผลิตน้ำ ม. บางส่วน ตามฟ้องแย้ง ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง ในปัญหานี้นายสุวิจักขณ์พยานโจทก์เบิกความว่า การวางท่อบริเวณอ่างเก็บน้ำ ห. มีทั้งหมด 14 Line โจทก์รับผิดชอบในการวางท่อ Line 12 Line 13 และ Line 14 ซึ่งเป็นท่อเหล็ก ส่วน Line 1 ถึง Line 11 เป็นท่อ HDPE หรือท่อพลาสติกสีดำ ขณะโจทก์เข้าดำเนินการครั้งแรกนายศิริวัฒน์ และนายณรงค์ ผู้ควบคุมงานของการประปาส่วนภูมิภาคและนายฤทธิ์เดชเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แจ้งแก่พยานว่าในการก่อสร้างวางท่อ Line 13 จะเปลี่ยนจากท่อเหล็กเป็นท่อ HDPE เนื่องจากต้องการปรับปรุงแนวท่อและการจ่ายน้ำ ซึ่งก่อนจะเริ่มดำเนินการมีการตกลงกันว่าการวางท่อเหล็กให้เป็นหน้าที่ของโจทก์ ส่วนการวางท่อ HDPE ให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น การวางท่อ Line 13 เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นโจทก์ได้ดำเนินการวางท่อเหล็ก Line 12 และ Line 14 จนใกล้หมดสัญญาในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 และเมื่อเดือนมกราคม 2560 โจทก์ได้รับแจ้งว่าการวางท่อ Line 13 จะเปลี่ยนเป็นการวางท่อเหล็กเหมือนเดิม จำเลยที่ 1 แจ้งว่าจะเป็นผู้ดำเนินการเองเนื่องจากใกล้ครบกำหนดเวลาส่งมอบงาน การดำเนินงานวางท่อ Line 13 มีรายละเอียดตามบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาก่อสร้างท้ายหนังสือเสนอราคา ซึ่งเป็นราคาเดียวกันกับราคาที่การประปาส่วนภูมิภาคว่าจ้างบริษัท บ. ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ฯ เมื่อโจทก์ไม่ได้ดำเนินการวางท่อดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงคิดค่าจ้างจากโจทก์เป็นเงิน 1,173,000 บาท งานคืนผิวและงานติดตั้งอุปกรณ์ในส่วน Line 13 จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด ส่วนจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 3 เบิกความว่า หลังจากโจทก์ตกลงรับจ้างบริหารงานก่อสร้างวางท่อ Line 12 Line 13 และ Line 14 แล้ว โจทก์ได้เข้าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในส่วนของค่าแรงเสียเอง โจทก์จึงมีฐานะเป็นผู้รับจ้างบริหารงานก่อสร้างวางท่อ Line 12 Line 13 และ Line 14 งานท่อ ประสานท่อภายในผังบริเวณและในฐานะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในส่วนของค่าแรงด้วย โจทก์ในฐานะผู้รับเหมาได้เบิกค่าแรงและค่าวัสดุตามผลงานที่โจทก์ส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ในแต่ละงวดรวม 13 งวด เมื่อหักเงินประกันผลงานแล้ว คงเหลือเงินที่โจทก์ได้รับ 23,599,004.88 บาท โจทก์ผิดสัญญาทำงานไม่แล้วเสร็จและทิ้งงานกล่าวคือ งานก่อสร้างวางท่อ Line 12 งานที่โจทก์ยังไม่ได้ทำ ได้แก่ งานซ่อมถนน (คืนพื้นผิวจราจรหรือทางเท้า) งานติดตั้งอุปกรณ์และประกอบท่อ เช่น ประตูน้ำ วาล์ว งานประสานท่อ งานล้างท่อ งานทดสอบการส่งน้ำ ฯลฯ การก่อสร้างวางท่อ Line 13 โจทก์ไม่ได้ทำ ส่วนงานวางท่อ Line 14 งานที่โจทก์ยังไม่ได้ทำ ได้แก่ งานซ่อมถนน (คืนผิวจราจรหรือทางเท้า) งานติดตั้งอุปกรณ์ประกอบท่อ เช่น ประตูน้ำ วาล์ว งานประสานท่อ งานล้างท่อ งานทดสอบการส่งนำ ฯลฯ โจทก์ทิ้งงานไม่ได้ทำงานก่อสร้าง ไม่แก้ไขงานส่วนที่ชำรุดบกพร่องตั้งแต่ประมาณต้นเดือนเมษายน 2559 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 จึงเข้าดำเนินการก่อสร้างงานที่โจทก์ยังทำไม่แล้วเสร็จ โดยว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาทำงานแทนโจทก์บางส่วน จำเลยที่ 1 ทำเองบางส่วนจนกระทั่งงานแล้วเสร็จสามารถส่งมอบงานให้การประปาส่วนภูมิภาคได้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 เห็นว่า ตามใบสรุปรับ – จ่าย โจทก์ได้เบิกค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 เป็นค่าวัสดุและค่าแรงตามผลงานที่โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยที่ 1 ในแต่ละงวด รวม 13 งวด จำเลยที่ 1 หักเงินประกันผลงานแล้ว โจทก์ได้รับค่าจ้าง 23,599,004.88 บาท น่าเชื่อว่า นอกจากโจทก์จะรับจ้างบริหารงานวางท่อดังกล่าวแล้วโจทก์ยังรับเหมาก่อสร้างงานในส่วนของค่าแรงตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบด้วย ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายณรงค์ หัวหน้างาน 8 งานควบคุมการก่อสร้าง 2 กองควบคุมการก่อสร้าง 2 ประกอบหนังสือเร่งรัดการคืนพื้นที่แนววางท่อ Line 12 ว่า นายณรงค์เคยมีหนังสือไปถึงบริษัท บ. ผู้รับจ้างแจ้งว่างานคืนสภาพบางส่วนในการวางท่อ Line 12 ยังไม่ได้ดำเนินการ ไม่มีการติดตามงานใกล้ชิด มีการปล่อยปละละเลยทำให้ชาวบ้านผู้ประกอบการและผู้ใช้เส้นทางสัญจรได้รับความเดือนร้อน ขอให้ผู้รับจ้างรีบดำเนินการโดยด่วน ซึ่งก็ปรากฏสภาพงานที่ยังทำไม่แล้วเสร็จพื้นถนนทรุดตัวหลายจุดตามภาพถ่ายหน้างานที่แนบท้ายเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายณรงค์อีกว่า งานวางท่อ Line 12 ของโจทก์รุกล้ำแนวเขตที่ดินของชาวบ้านได้รับความเสียหาย และงานคืนพื้นผิวจราจรยังไม่เรียบร้อย การประปาส่วนภูมิภาคไม่สามารถตรวจรับงานได้ งานวางท่อ Line 12 และ Line 14 ทดสอบแล้วพบรอยรั่ว ทั้งยังไม่ได้คืนสภาพพื้นถนนให้เรียบร้อย ตามภาพถ่ายหน้างาน สอดคล้องกับที่นายวุฒิชัย พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า พยานเป็นวิศวกรของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบงานวางท่อประปา Line 12 Line 13 และ Line 14 พบว่า งานวางท่อ Line 12 และ Line 14 ยังไม่แล้วเสร็จ ได้แก่ งานคืนสภาพพื้นถนน การติดตั้งอุปกรณ์ งานเชื่อมประสานท่อ ทั้งพยานได้แจ้งให้โจทก์เข้ามาแก้ไขงานดังกล่าวทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการแก้ไข จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกมาดำเนินการแทนจนแล้วเสร็จ สำหรับงานวางท่อ Line 13 นายสุวิจักขณ์พยานโจทก์เบิกความรับว่า โจทก์ไม่ได้ทำงานดังกล่าวโดยอ้างว่าการประปาส่วนภูมิภาคผู้ว่าจ้างและบริษัท บ. มีการทำสัญญาแก้ไขเปลี่ยนแปลงงานวางท่อส่งน้ำและรูปแบบอุปกรณ์ท่อแยกจากท่อเมนรวม 5 ครั้ง ตามสัญญาแก้ไขสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างฯ และการประปาส่วนภูมิภาคส่งมอบพื้นที่ให้ดำเนินการก่อสร้างใกล้หมดอายุสัญญาจ้าง จำเลยที่ 1 เกรงว่าจะทำการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจึงตกลงกับโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 จะทำงานวางท่อ Line 13 เอง การที่โจทก์ไม่ได้ดำเนินงานก่อสร้างวางท่อ Line 13 โจทก์จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างนั้น เห็นว่า คู่ความรับกันว่าการประปาส่วนภูมิภาคผู้ว่าจ้างได้ขยายเวลาทำงานตามสัญญาให้แก่บริษัท บ. ผู้รับจ้างออกไปถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างช่วงได้ว่าจ้างโจทก์บริหารงานวัสดุและค่าแรงในการก่อสร้างวางท่อ Line 12 Line 13 และ Line 14 ให้แล้วเสร็จจนจำเลยที่ 1 สามารถส่งมอบงานและเบิกเงินค่าจ้างได้ โจทก์จึงต้องดำเนินงานบริหารงานก่อสร้างในงานที่โจทก์ได้รับจ้างจำเลยที่ 1 ภายใต้สัญญาระหว่างการประปาส่วนภูมิภาคและบริษัท บ. ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นสัญญาหลัก โจทก์ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าโจทก์สามารถทำงานที่รับจ้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ตามที่การประปาส่วนภูมิภาคขยายระยะเวลาให้แก่บริษัท บ. นอกจากนี้ยังได้ความจากคำเบิกความของนายวุฒิชัยพยานจำเลยที่ 1 ว่า พยานเข้าตรวจสอบงานวางท่อประปา Line 12 และ Line 14 เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2559 ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้ทำการก่อสร้างวางท่อ Line 13 และโจทก์ไม่ได้ทำงานในพื้นที่แล้ว ประกอบกับจำเลยที่ 1 สามารถก่อสร้างงานวางท่อทั้งหมดรวม 14 Line ตามที่รับจ้างซึ่งรวมทั้งการวางท่อ Line 12 Line 13 และ Line 14 ที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์จนแล้วเสร็จและสามารถส่งมอบงานให้แก่การประปาส่วนภูมิภาคก่อนสัญญาสิ้นสุด ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายก่อสร้างวางท่อ Line 13 เองดังที่โจทก์กล่าวอ้างแล้ว น่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องเจรจาตกลงรายละเอียดเกี่ยวกับค่าจ้างบริหารงานก่อสร้างส่วนแบ่งและกำไรตามที่เคยตกลงกันมาก่อนตามสัญญาจ้างเพิ่มเติมกันใหม่ เพราะงานที่ว่าจ้างมีปริมาณลดลง แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีการตกลงลดวงเงินค่าจ้างบริหารงานก่อสร้างและส่วนแบ่งค่าบริหารกับผลกำไรเพิ่มเติมกันใหม่แต่อย่างใด ส่วนใบสรุปค่าใช้จ่ายตามขอบเขตงานของการติดตั้งท่อเหล็ก นายสุวิจักขณ์พยานโจทก์เบิกความลอย ๆ ว่าจำเลยที่ 1 จัดทำ ทั้งจำเลยที่ 1 ก็นำสืบปฏิเสธว่ามิได้จัดทำและไม่เคยเห็นมาก่อน จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ใหม่ว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นฝ่ายดำเนินการก่อสร้างวางท่อ Line 13 เสียเอง พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทำงานวางท่อ Line 12 Line 14 ไม่แล้วเสร็จ และไม่ได้ทำงานวางท่อ Line 13 โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างและเงินประกันผลงานคืนจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 215
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเพียงใด จำเลยที่ 3 เบิกความว่า โจทก์ทำงานวางท่อ Line 12 และ Line 14 ไม่แล้วเสร็จ ส่วนงานวางท่อ Line 13 ได้แก่ งานขุดดิน งานวางท่อ งานถมทรายหลังท่อ งานซ่อมถนนคืนผิวจราจรหรือทางเท้า ประตูน้ำ วาล์ว งานประสานท่อ งานล้างท่อ งานทดสอบการส่งน้ำฯ โจทก์ไม่ได้ทำ จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างบริษัท ว. และบริษัท ด. เข้าทำงานดังกล่าวแทนโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำเองบางส่วน ทั้งจำเลยที่ 1 มีนางขวัญใจ กรรมการผู้จัดการบริษัท ว. กับนายวสุ กรรมการบริษัท ด. เบิกความสนับสนุน โดยนางสาวขวัญใจเบิกความว่า ในระหว่างวันที่ 30 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างบริษัท ว. ทำงานวางท่อบางส่วนของ Line 12 และ Line 13 จำนวน 15 สัญญา และนายวสุเบิกความว่า ระหว่างเดือนมีนาคม 2559 ถึงเดือนสิงหาคม 2560 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้บริษัท ด. รับเหมาทำการก่อสร้างวางท่อ Line 12 และ Line 14 ต่อจากงานที่ทำไม่แล้วเสร็จรวม 20 สัญญา บริษัท ด. ทำงานเสร็จทุกสัญญาและรับเงินค่าจ้างจากจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่า แม้สัญญาว่าจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ว. และบริษัท ด. ตามหนังสือสั่งจ้าง ชื่อเจ้าของโครงการเป็นโครงการอื่นมิใช่โครงการของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา (ชั้นพิเศษ) ที่จำเลยที่ 1 รับจ้างช่วงก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็เบิกความอธิบายถึงความเป็นมาเหตุผลและความจำเป็นของจำเลยที่ 1 ที่สัญญาจ้างดังกล่าวต้องระบุชื่อเจ้าของโครงการอื่นนั้นเป็นเหตุผลทางบัญชีเนื่องจากงบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างวางท่อจากอ่างเก็บน้ำ ห. และสถานีผลิตน้ำ ม. ที่จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์บริหารงานก่อสร้างวางท่อตามสัญญาจ้าง ได้ใช้จ่ายไปจากการที่โจทก์เบิกค่าแรงและค่าวัสดุตามจำนวนที่กำหนดในตารางปริมาณงานและราคา (BOQ) จำนวน 13 งวด ไปหมดแล้ว แต่งานที่โจทก์ดำเนินการก่อสร้างยังมีความบกพร่องไม่ทำให้แล้วเสร็จจำเลยที่ 1 จึงต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นเพื่อแก้ไขความบกพร่องและงานวางท่อ Line 13 ที่โจทก์ไม่ได้ทำ ค่าใช้จ่ายจึงเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้ชื่อโครงการอื่นในการซื้อวัสดุซึ่งเป็นข้อจำกัดด้านระบบภายในของจำเลยที่ 1 หนังสือสั่งจ้างดังกล่าวหน้าแรกด้านขวาจะระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้าง ส่วนชื่อโครงการจะมีคำว่า ADD2 กำกับต่อท้ายชื่อโครงการหมายถึงเป็นการใช้ชื่อโครงการอื่นเพื่อซื้อวัสดุมาใช้ในโครงการที่โจทก์รับจ้างจำเลยที่ 1 แต่โจทก์ทิ้งงาน หากเป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ชื่อโครงการที่โจทก์รับจ้างจำเลยที่ 1 และค่าใช้จ่ายอยู่ภายในงบประมาณที่กำหนดไว้จะไม่มีคำว่า ADD2 ประกอบกับงานที่บริษัท ว. และบริษัท ด. รับจ้างตามหนังสือสั่งจ้างดังกล่าวสอดคล้องกับงานก่อสร้างงานท่อ Line 12 Line 13 และ Line 14 ที่โจทก์ทำไม่แล้วเสร็จและไม่ได้ทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนางขวัญใจและนายวสุเบิกความยืนยันว่า หนังสือสั่งจ้างดังกล่าวเป็นงานก่อสร้างวางท่อประปาจากอ่างเก็บน้ำ ห. - สถานีผลิตน้ำ ม. ที่บริษัท ว. และบริษัท ด. รับจ้างจำเลยที่ 1 ทำแทนโจทก์ อีกทั้งจำเลยที่ 1 สามารถวางท่อทั้งหมดแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่การประปาส่วนภูมิภาคภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญา จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่า หนังสือสั่งจ้างดังกล่าวเป็นงานที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างบุคคลภายนอกทำงานวางท่อในส่วนที่โจทก์ทำไม่แล้วเสร็จและงานที่ยังไม่ได้ทำ สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้าง เป็นสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์บริหารงานวัสดุและแรงงานในการก่อสร้างวางท่อ Line 12 Line 13 และ Line 14 โดยจำเลยที่ 1 ตั้งงบประมาณให้โจทก์บริหารวัสดุและค่าแรงเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นงบประมาณงานก่อสร้าง จัดหาและวางท่อเป็นเงิน 88,643,479 บาท งานท่อ ประสานท่อภายในผังบริเวณเป็นเงิน 6,073,806 บาท รวมเป็นเงิน 94,717,285 บาท ส่วนที่สองเป็นส่วนแบ่งค่าบริหารและกำไรเป็นเงิน 22,000,000 บาท หากโจทก์สามารถบริหารและทำงานแล้วเสร็จโดยใช้จ่ายเงินค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงไม่เกินวงเงิน 94,717,283 บาท โจทก์จะได้รับเงินในส่วนที่เหลือและจะได้รับส่วนแบ่งค่าบริหารและกำไร 22,000,000 บาท หากค่าใช้จ่ายในส่วนวัสดุและค่าแรงเกินวงเงิน 94,717,283 บาท ส่วนที่เกินจะต้องนำไปหักออกจากส่วนแบ่งค่าบริหารและกำไรเหลือเท่าใด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินในส่วนที่เหลือ ข้อตกลงจ้างบริหารงานก่อสร้างตามสัญญาจ้าง จึงแตกต่างไปจากสัญญาเหมา (Lump Sum Contract) ที่ผู้รับจ้างเหมาเป็นฝ่ายออกเงินทั้งค่าแรงและค่าวัสดุตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ทั้งหมด กรณีผู้รับจ้างผิดสัญญาจ้างทำงานไม่แล้วเสร็จหรือไม่ได้ทำ ผู้จ้างจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างค่าจ้างตามสัญญารับเหมาเดิมกับค่าจ้างที่ผู้ว่าจ้างต้องจ่ายเพิ่มจากการที่ต้องว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ แต่ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้าง ในส่วนค่าบริหารและกำไรจำนวนเงิน 22,000,000 บาท เป็นส่วนที่จำเลยที่ 1 จะจ่ายให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์สามารถบริหารค่าวัสดุและค่าแรงภายในวงเงินที่กำหนดและงานที่จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์แล้วเสร็จและโจทก์เบิกเงินค่าจ้างได้ ส่วนค่าจ้างวางท่อ Line 13 หากโจทก์ทำงานดังกล่าวแล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างในงานดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือหากจำเลยที่ 1 เข้าทำงานดังกล่าวเสียเองหรือจ้างบุคคลอื่นทำแทน จำเลยที่ 1 ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน จึงไม่อาจนำยอดวงเงินประมาณ 116,717,285 บาท ที่จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์มาเป็นฐานในการเรียกร้องค่าเสียหายตามฟ้องแย้งได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าจ้างในส่วนงานวงท่อ Line 13 เพิ่มขึ้นจากสัญญาที่ว่าจ้างโจทก์เพียงใด จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดจากโจทก์ผิดสัญญาเฉพาะค่าจ้างวางท่อ Line 12 และ Line 14 ส่วนที่โจทก์ทำงานชำรุดบกพร่องและส่วนที่ทำไม่แล้วเสร็จเท่านั้น ได้ความตามตารางจ้างบุคคลอื่นเข้าทำงานก่อสร้างแทน ประกอบงานที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างบริษัท ว. และจำเลยที่ 1 ว่าจ้างบริษัท ด. ตามหนังสือสั่งจ้าง จำเลยที่ 1 จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างทั้งสองรวมเป็นเงิน 29,807,079.29 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่ยอดเงินค่าจ้างดังกล่าวรวมค่าจ้างวางท่อ Line 13 จำนวนเงิน 4,883,833.10 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และจำนวนเงิน 769,330 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) รวม 5,653.163.10 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ว่าจ้างบริษัท ว. วางท่อ Line 13 แทนโจทก์ รวมอยู่ด้วย จึงต้องนำค่าจ้างจำนวนดังกล่าวหักออกจากค่าจ้างบุคคลเข้าทำงานก่อสร้างแทนโจทก์ คงเหลือเงินค่าจ้างเป็นเงิน 24,153,916.19 บาท ส่วนที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องค่าจ้างควบคุมงานและค่าใช้จ่ายอื่นจำนวนเงิน 6,000,000 บาท ตามค่าจ้างควบคุมงานนั้น เป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นเองฝ่ายเดียว ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้นำผู้รับจ้างควบคุมงานมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่มีหนังสือสั่งจ้างหรือใบเสร็จรับเงินมาอ้างอิงสนับสนุนให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือจึงไม่กำหนดให้ ดังนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่เกิดจากโจทก์ผิดสัญญาเป็นเงิน 24,153,916.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้งเป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง (เดิม) หลังจากนั้นให้รับผิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่จำต้องมีคำสั่งอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 อีก
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียด้วย ให้โจทก์ชำระเงิน 24,153,916.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแย้ง (ฟ้องแย้งวันที่ 7 มีนาคม 2562) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามที่กระทรวงการคลังอาจปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกอัตราดอกเบี้ยเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1 แต่ดอกเบี้ยทุกช่วงเวลาต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลตามอุทธรณ์คำสั่งฉบับลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 ให้คืนแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์