คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนและแผนที่มีการแก้ไข ขอให้ศาลล้มละลายกลางนัดพิจารณาแผน
เจ้าหนี้รายที่ 66 และรายที่ 120 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 6 เจ้าหนี้หน่วยงานราชการและภาครัฐ ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่าขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า ข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการสามารถปรับลดหนี้ของกรมศุลกากรและกรมสรรพากร เจ้าหนี้รายที่ 66 และกรมสรรพากร เจ้าหนี้รายที่ 120 ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ทำแผนสามารถกำหนดเรื่องการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/61 (1) แผนฟื้นฟูกิจการของผู้ทำแผนเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและกระทำโดยสุจริต
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแผนที่มีการแก้ไขตามมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เจ้าหนี้ทั้งสองอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
เจ้าหนี้รายที่ 66 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความทุกฝ่ายไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ระบุว่า "8.2.6 เจ้าหนี้กลุ่มที่ 6: เจ้าหนี้หน่วยราชการและภาครัฐ ...จะได้รับการชำระหนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้...
(2) ภาระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 (เจ้าหนี้กรมศุลกากรและกรมสรรพากร รายที่ 66) จำนวน 21,031,357.78 บาท ซึ่งเป็นภาระหนี้ในอนาคตที่มีเงื่อนไขและยังไม่เกิดขึ้น หากต่อมาบริษัทฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้มีคำสั่งเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุน เลขที่ 1497(2)/2554 ทำให้บริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ดังกล่าวจากกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้เป็นรายเดือน รวม 84 เดือน โดยเริ่มชำระหนี้เงินต้นงวดแรกภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนถัดจากเดือนที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีคำสั่งเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุนของบริษัทฯ และกรมศุลกากรและกรมสรรพพากรได้มีหนังสือแจ้งเรียกให้บริษัทฯชำระค่าภาษีอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนดังกล่าว
(3) ภาระหนี้อื่นใดของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 6 รวมทั้งหนี้เบี้ยปรับเงินเพิ่ม จำนวน 46,243,841.41 บาท หนี้ดอกเบี้ยคงค้าง ดอกเบี้ยผิดนัด ค่าปรับ ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าใช้จ่าย และเงินอื่นใดที่เกิดขึ้นตามสัญญา และหรือตามกฎหมายที่มิได้กำหนดวิธีการชำระหนี้ไว้ในแผนฉบับนี้ ถือว่าได้รับการปลดหนี้ทั้งจำนวนทันทีที่มีการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่เจ้าหนี้รายดังกล่าวครบถ้วน
แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ระบุว่า "8.3 การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้บริหารแผนมีอำนาจพิจารณาเห็นชอบให้บริษัทฯ ชำระหนี้อื่นได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ดังนี้มูลหนี้ทางการค้าปกติที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเจ้าหนี้มิได้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย หากผู้บริหารแผนและคณะกรรมการเจ้าหนี้ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นพ้องกันว่าเป็นหนี้ที่แท้จริงและการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังกล่าวจำเป็นสำหรับการฟื้นฟูกิจการและ/หรือการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ต่อไปในอนาคต หรือกรณีเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอภายใน แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาล (แล้วแต่กรณี) มีคำสั่งให้รับคำขอรับชำระหนี้ ผู้บริหารแผนจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังกล่าว โดยนำวิธีการและเงื่อนไขเดียวกับเจ้าหนี้ตามแผนในลักษณะหนี้ประเภทนั้น มาใช้บังคับโดยอนุโลม"
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 66 ประการแรกว่า การที่แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ข้อ 8.2.6 (2) กำหนดเงื่อนไขให้เจ้าหนี้รายที่ 66 จะได้รับชำระหนี้ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีคำสั่งเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุนของลูกหนี้ เมื่อเจ้าหนี้รายที่ 66 ได้มีหนังสือแจ้งเรียกให้ลูกหนี้ชำระค่าภาษีอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนดังกล่าว เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 55 วรรคสาม หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 55 วรรคสาม บัญญัติว่า "ผู้ได้รับการส่งเสริมต้องแจ้งขอชำระภาษีอากร หรือภาษีอากรเพิ่มต่อกรมศุลกากรหรือด่านศุลกากรที่ได้นำของนั้นเข้ามาหรือส่งของนั้นออกไปภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากร และต้องชำระ ณ ที่ทำการศุลกากรซึ่งกรมศุลกากรกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจำนวนเงินภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มอันจะต้องชำระ..." ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากร ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีหน้าที่ประการแรกคือ ต้องแจ้งขอชำระภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มต่อกรมศุลกากรหรือด่านศุลกากรภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากร และประการที่สอง ต้องชำระภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มให้เสร็จภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจำนวนเงินภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มที่ต้องชำระแผนข้อ 8.2.6 (2) เพียงกำหนดให้เกิดความชัดเจนว่า ลูกหนี้จะต้องรับผิดชำระหนี้ค่าภาษีอากรในส่วนนี้ต่อเมื่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้พิจารณาว่าลูกหนี้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและมีคำสั่งเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุนของลูกหนี้แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ลูกหนี้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรต่อไป และกำหนดวันที่ลูกหนี้ต้องเริ่มชำระหนี้เงินต้นงวดแรกสำหรับหนี้ส่วนนี้ โดยกำหนดให้ชำระภายในวันทำการสุดท้ายของเดือนถัดจากเดือนที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีคำสั่งเพิกถอนบัตรส่งเสริมการลงทุนและเจ้าหนี้รายที่ 66 ได้มีหนังสือแจ้งเรียกให้ลูกหนี้ชำระค่าภาษีอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น แผนข้อนี้ไม่ได้กำหนดยกเว้นหน้าที่ของลูกหนี้ที่จะต้องชำระค่าภาษีอากรและหน้าที่ที่ต้องแจ้งขอชำระภาษีอากรต่อเจ้าหนี้รายที่ 66 ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรแต่อย่างใด แผนข้อนี้จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 55 วรรคสาม และไม่ทำให้เจ้าหนี้รายที่ 66 ไม่ได้รับความเป็นธรรมแต่อย่างใด ฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 66 ประการแรกฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 66 ประการที่สองว่า การที่แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ข้อ 8.2.6 (3) กำหนดเงื่อนไขและวิธีการในการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 66 โดยให้งดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเกิดจากมูลหนี้ภาษีอากรดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ประมวลรัษฎากร และพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นกรณีพิเศษแล้ว ภายใต้บังคับมาตรา 90/58 (2) ประกอบมาตรา 130 (6) สิทธิของกรมศุลกากรและกรมสรรพากรเจ้าหนี้รายที่ 66 จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ดังนั้น แม้หนี้ภาษีอากรที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องอันมีอยู่แล้วหรือจะมีขึ้นต่อไปก็อาจถูกปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ได้ ส่วนที่เจ้าหนี้รายที่ 66 ฎีกาว่าแผนไม่อาจปรับลดยอดหนี้ภาษีอากรและแผนขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น พออนุมานได้ว่าเจ้าหนี้รายที่ 66 คัดค้านว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/58 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการให้ความเห็นชอบด้วยแผนขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหาดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 35 - 36/2544 แล้วว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลสามารถใช้ดุลยพินิจเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวได้ ฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 66 ประการที่สองฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้รายที่ 66 ประการสุดท้ายว่า แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ข้อ 8.3 ซึ่งกำหนดการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ข้อกำหนดดังกล่าวถือว่าไม่สุจริตและเอื้อประโยชน์ให้แก่เจ้าหนี้เฉพาะราย มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งไม่สอดคล้องและขัดต่อหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้อื่นที่ได้ดำเนินการยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ตามขั้นตอนกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 หมวด 3/1 นั้น หลังจากที่ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติยอมรับแผนแล้ว จะต้องให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนอีกชั้นหนึ่ง แผนจึงจะมีผลบังคับผูกพันเจ้าหนี้และลูกหนี้รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนผู้บริหารแผนมีหน้าที่ในการดำเนินการตามแผนและดำเนินการชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการ การที่แผนจะกำหนดให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ไปตกลงกันต่างหากในสาระสำคัญนอกเหนือจากแผนที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วไม่อาจทำได้ ส่วนที่มาตรา 90/61 บัญญัติว่า "เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 90/26 หรือมาตรา 90/27 วรรคสาม แล้วแต่กรณี เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ ไม่ว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จะเป็นผลสำเร็จตามแผนหรือไม่ เว้นแต่ (1) แผนจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น..." ตามบทบัญญัติดังกล่าว เจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการผู้ใดไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ผู้นั้นย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ เว้นแต่แผนกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น กล่าวคือ แผนกำหนดให้เจ้าหนี้รายนั้นมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ได้ ซึ่งแผนจะต้องระบุไว้ให้ชัดเจนว่า จะให้เจ้าหนี้รายใดที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงใด ซึ่งข้อเสนอในแผนดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้และได้รับความเห็นชอบจากศาล ซึ่งกรณีดังกล่าว ศาลย่อมจะต้องพิจารณาถึงเหตุอันสมควรและความเป็นธรรมในการที่แผนจะกำหนดให้เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้รับชำระหนี้ ดังนั้น แม้แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้ลูกหนี้โดยผู้บริหารแผนพิจารณาร่วมกันกับคณะกรรมการเจ้าหนี้สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทางการค้าปกติที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยนำวิธีการและเงื่อนไขเดียวกับเจ้าหนี้ตามแผนในลักษณะหนี้ประเภทนั้นมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่มิได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้ในแผนว่าเจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีรายใดบ้างและมีจำนวนหนี้เท่าใด ซึ่งมีผลให้การได้รับชำระหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนส่วนนี้ไม่ได้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ แผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ข้อ 8.3 จึงมิชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดในแผนข้างต้น เป็นข้อกำหนดที่ไม่เป็นข้อสำคัญอันจะทำให้แผนฟื้นฟูกิจการทั้งฉบับตกไปเสียทีเดียว แผนส่วนอื่น ๆ ยังใช้บังคับได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาประการสุดท้ายของเจ้าหนี้รายที่ 66 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เห็นชอบด้วยแผนเฉพาะข้อ 8.3 การชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ