โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277 วรรคแรก, 309 วรรคแรก วรรคสอง, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 309 วรรคแรก วรรคสอง (ที่ถูก วรรคสอง เท่านั้น), 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปี และฐานทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ (ที่ถูก ให้ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งเป็นบทหนักที่สุด) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรปรับ 100 บาท (ที่ถูกต้องระบุด้วยว่า รวมจำคุก 6 ปี และปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29) คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท จึงมีกำหนดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) ข้อเท็จจริงได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2537 แต่โจทก์ได้ตัวจำเลยมายังศาลโดยยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 ซึ่งเกินกำหนด 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นอันขาดอายุความจึงชอบที่ศาลจะยกฟ้องเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 แม้ความผิดฐานนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยปรับ 100 บาท ต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ กับปรากฏในอุทธรณ์ว่า จำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น จำเลยมิได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายเกี่ยวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดเพราะเหตุใด อันเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ตาม แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225...
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.