คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,205,421.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1083 อ้างว่าเป็นทรัพย์ของจำเลยเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์โดยอ้างว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18548/2557 ระหว่างผู้ร้อง ซึ่งเป็นโจทก์ กับนางจรินทิพย์ จำเลยที่ 1 และนางสาวสมทรง จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบำรุง โดยศาลฎีกาพิพากษาให้นางจรินทิพย์และนางสาวสมทรงร่วมกันดำเนินการยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่โจทก์นำยึดไว้ แล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง หากการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นพ้นวิสัย ให้นางจรินทิพย์และนางสาวสมทรงร่วมกันคืนมัดจำและชำระค่าเสียหายแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอันที่จะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 อันเป็นทรัพยสิทธิใช้ยันบุคคลทั่วไปได้ รวมถึงโจทก์และจำเลยด้วย ทำให้โจทก์ไม่อาจบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทมีราคาสูงกว่าหนี้ที่จำเลยต้องชำระต่อโจทก์เป็นจำนวนมาก โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ผู้ร้องมีพฤติการณ์พิเศษในการยื่นคำร้องเกิน 60 วัน นับแต่วันที่มีการยึดที่ดินพิพาท ขอให้มีคำสั่งปล่อยที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1083 คืนแก่ผู้ร้องเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป
โจทก์ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกคำร้อง
จำเลยยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1083 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18548/2557 ซึ่งพิพากษาให้มีการยื่นขอรังวัดที่ดินพิพาทแล้วจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้อง หากการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตกเป็นพ้นวิสัยให้ผู้ร้องรับเงินมัดจำคืนกับค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวในลำดับแรกตกเป็นพ้นวิสัย หากผู้ร้องประสงค์จะดำเนินการบังคับคดีต่อไปต้องเรียกให้นางจรินทิพย์และนางสาวสมทรง จำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวปฏิบัติการชำระหนี้ในลำดับถัดไปคือ การเรียกให้คืนเงินมัดจำและชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และคดีถึงที่สุดเพราะศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาของผู้ร้อง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 4617 - 4618/2560 หลังจากนั้นได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562 ระหว่าง บริษัท ต. โจทก์ นายวิศิษฎ์ (ผู้ร้อง) ผู้ร้องสอด นางจรินทิพย์ จำเลยที่ 1 และนางสาวศมภัสหรือสมทรง จำเลยที่ 2 ซึ่งพิพากษาให้นางจรินทิพย์และนางสาวสมทรง จำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบำรุง ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัท ต. โจทก์ในคดีดังกล่าว แต่วินิจฉัยด้วยว่า การชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องสอดในคดีดังกล่าวไม่ตกเป็นพ้นวิสัยเสียทั้งหมด เมื่อที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือ 32 ไร่เศษ ยังเป็นประโยชน์ ผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะบังคับคดีในส่วนที่เหลือด้วยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของนางจรินทิพย์และนางสาวสมทรงในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบำรุง ในคดีอื่นเกี่ยวกับที่ดินพิพาท ถือว่าผู้ร้องเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนในทรัพย์สินนั้นได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อที่สองว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562 ขัดกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 4617 - 4618/2560 และต้องถือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง มีสาระสำคัญคือเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลต่างชั้นกัน และกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้ที่แบ่งแยกจากกันไม่ได้เท่านั้น เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 4617 - 4618/2560 ซึ่งเป็นคดีสาขาในชั้นบังคับคดีของคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18548/2557 ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ระบุว่า หากผู้ร้องประสงค์จะบังคับคดีต่อไป ต้องเรียกให้จำเลยทั้งสองคืนเงินมัดจำกับเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ในขณะที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562 ซึ่งมีบริษัท ต. เป็นโจทก์ และศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนั้น แม้ทั้งสองเรื่องดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท แต่การปฏิบัติชำระหนี้สามารถแบ่งแยกจากกันได้อย่างชัดเจน กรณีไม่เป็นคำพิพากษาของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันนั้นขัดกันอันจะตกอยู่ในบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า การบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18548/2557 ในลำดับแรกโดยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้องตกเป็นพ้นวิสัยหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนางสาวจรินทิพย์และนางสาวสมทรง จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบำรุง ยื่นคำร้องขอให้งดการโอนที่ดินพิพาทตามคำขอของผู้ร้องที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการบังคับคดีในลำดับแรกตกเป็นพ้นวิสัย และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เมื่อได้ความว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเรื่องนี้ถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าวและได้แต่รับมัดจำรวมทั้งค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองเท่านั้น จะมาเรียกให้บังคับคดีในลำดับแรกอีกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน เมื่อคดีรับฟังเป็นเช่นนี้แล้วย่อมไม่ต้องพิจารณาฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ