ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย: เบี้ยเลี้ยงรวมเป็นค่าจ้างในการคำนวณค่าทดแทน
โจทก์ฟ้องว่า ผู้ตายซึ่งเป็นพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันลูกจ้างของโจทก์ ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จนรถคว่ำถึงแก่ความตาย เป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าทดแทนให้แก่ทายาทของผู้ตาย แต่จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่า ผู้ตายขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง มิใช่กระทำโดยจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะไม่มีเหตุผลประการใดที่ผู้ตายจะจงใจกระทำในเรื่องที่มีผลให้ตนต้องถึงแก่ความตาย ดังนี้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบข้อเท็จจริงตามข้ออ้างในฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่นำสืบ ย่อมรับฟังตามที่โจทก์อ้างไม่ได้
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าทดแทนฯข้อ 3 ให้คำนิยามคำว่า "ค่าจ้าง" ไว้ หมายความถึงสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง ไม่ว่าสินจ้างนั้นจะเรียกชื่อหรือคำนวณอย่างไรก็ตามแต่ไม่รวมถึงค่าล่วงเวลาค่าล่วงเวลาในวันหยุด โบนัส หรือผลประโยชน์อย่างอื่นที่มีลักษณะเป็นการสงเคราะห์ลูกจ้าง ผู้ตายเป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกน้ำมันของโจทก์ได้รับเงินเดือน ๆ ละ 350 บาทและเบี้ยเลี้ยงถัวเฉลี่ยเดือนละ 957.60 บาท เงินเดือนที่ผู้ตายได้รับนั้นเป็นอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นค่าจ้างในปัจจุบัน และไม่ได้ส่วนสัดกับงานของพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมัน ส่วนเบี้ยเลี้ยงนั้น โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานขับรถเพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งโดยคำนวณตามเวลาที่ทำงานให้แก่โจทก์ซึ่งสมควรแก่ปริมาณงานที่ทำ จึงถือได้ว่าเบี้ยเลี้ยงนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสินจ้างที่โจทก์จ่ายให้แก่ผู้ตายในฐานะเป็นลูกจ้างเช่นเดียวกับเงินเดือน เพราะฉะนั้น "เบี้ยเลี้ยง" จึงเป็น "ค่าจ้าง" ตามนัยของประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว หาใช่เป็นเงินสงเคราะห์ลูกจ้างที่ต้องมีภาระเพิ่มขึ้นเพราะต้องทำงานนอกสถานที่ไม่
ประมวลรัษฎากรกับประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวเป็นกฎหมายคนละประเภทและมีวัตถุประสงค์ต่างกัน ทั้งไม่มีเหตุผลพิเศษที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร่างกฎหมายต้องการใช้คำว่า "เบี้ยเลี้ยง" และคำว่า "ค่าจ้าง" ในกฎหมายสองฉบับนั้นให้มีความหมายตรงกันการตีความคำเหล่านี้จึงต้องตีความไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายแต่ละฉบับที่ปรากฏในตัวบทกฎหมายนั้นๆ เองโดยเฉพาะประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวได้ให้คำนิยามคำว่า "ค่าจ้าง" ไว้เพื่อการคำนวณค่าทดแทนอยู่แล้ว การตีความคำว่า "ค่าจ้าง" ในเรื่องเงินค่าทดแทน จึงต้องเป็นไปตามคำนิยามนั้น (จะอ้างประมวลรัษฎากรมาประกอบการตีความว่า เบี้ยเลี้ยงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้อย่างค่าจ้าง จึงถือว่าเป็นค่าจ้างไม่ได้นั้น หาได้ไม่)