โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันปรเดิษฐ์รูป "เอสพี"และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เลขที่ 80775 กับสินค้าจำพวก 47 สำหรับสินค้าประเภทน้ำมันจักร เลขที่ 80976 กับสินค้าจำพวก 12 สำหรับสินค้าประเภทมีดซอยผม และได้ยื่นคำขอเลขที่ 131873 ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าจำพวก 38 ทั้งจำพวกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2526 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียน ณ ประเทศอิตาลี จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเหมือนกับของโจทก์ สำหรับสินค้าจำพวก 38 คือ เครื่องนุ่งห่มและแต่งกายเลขที่ 111579 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2526 โจทก์ได้รับหนังสือจากกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า แจ้งว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเลขที่ 131877เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลย จึงดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์ไม่ได้จนกว่าจะได้ทำความตกลงกันหรือนำคดีไปสู่ศาล โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า "เอสพี" แต่เพียงผู้เดียว และใช้เครื่องหมายดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี และได้ทำการโฆษณาจนเป็นที่แพร่หลาย ประชาชนทั่วไปทราบว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบ เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้ได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลย ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า กองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่สมบูรณ์ เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันประดิษฐ์ "ST" (เอสพี) จำเลยเป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นและใช้เครื่องหมายนี้กับสินค้าของจำเลยมา 10 ปีกว่าแล้ว และได้จดทะเบียนไว้ ณ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสำหรับประเทศไทยจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2523 ในสินค้าจำพวก 38 สำหรับใช้กับเครื่องนุ่งห่มและแต่งกาย ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า หลังจากนั้นมา 2-3 ปี โจทก์ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย ลอบนำไปขอจดทะเบียน แม้จำเลยจะยังมิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับสินค้าจำพวก12 และ 47 แต่จำเลยก็ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์ การที่โจทก์นำเครื่องหมายการค้าซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับของจำเลยไปใช้กับสินค้าโจทก์ อาจทำให้สาธารณชนหลงผิด เป็นการละเมิดและทำให้จำเลยได้รับความเสียหายขอให้ศาลยกฟ้องให้จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์ ให้โจทก์ถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 131832 และเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ 80976 และ 80775 หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเห็นการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การของจำเลยไม่ถูกต้องจำเลยไม่ใช่ผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้า "เอสที" และไม่เคยใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทแม้จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไว้ ณ ประเทศต่าง ๆ ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ฟ้องแย้งของจำเลยไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจำเลยไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าเลขทะเบียนที่ 80976 และ 80775 ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายให้ชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ขอให้ศาลยกฟ้องแย้งของจำเลย และพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 131873 ของโจทก์ และให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 80976 และ 80775
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าททะเบียนเลขที่ 80976 และ 80775 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับในประเด็นที่ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมอันชอบที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่นั้น เห็นว่าแม้โจทก์จะได้ฟ้องเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 3 คำขอซึ่งได้ขอจดทะเบียนกับสินค้าต่างจำพวกกัน คือ คำขอแรกเกี่ยวกับสินค้าจำพวก 47 คำขอที่สองเกี่ยวกับสินค้าจำพวก 12 และ คำขอที่สามเกี่ยวกับสินค้าจำพวก 38 โดยมีเฉพาะคำขอเดียว คือ คำขอที่สามเป็นการขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกเดียวกับที่จำเลยได้ขอจดทะเบียนไว้ซึ่งโจทก์ขอให้เพิกถอนแต่โจทก์ได้ขอให้ศาลสั่งว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลยในสินค้าทั้ง 3 จำพวกและจำเลยฟ้องแย้งเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าอันเดียวกัน การฟ้องแย้งขอให้แสดงสิทธิของจำเลยและขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับสินค้า 2 จำพวกแรกก็เป็นการฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าพิพาทที่โจทก์จดทะเบียนและฟ้องร้องอ้างสิทธินั่นเอง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมอันชอบที่ศาลจะรับไว้พิจารณา ส่วนจำเลยจะมีสิทธิเรียกร้องเพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่งฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนในประเด็นที่ว่า หนังสือมอบอำนาจของจำเลยสมบูรณ์มีผลให้ผู้รับมอบอำนาจฟ้องแย้งได้หรือไม่นั้น เห็นว่าข้อความในหนังสือมอบอำนาจมีข้อความว่าจำเลยขอแต่งตั้งให้นายวิรัตน์ กรรฐโรจน์ เป็นทนายของจำเลยดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า และในข้อ 1 มีใจความว่า "เพื่อเริ่มการฟ้องคดีและต่อสู้คดี ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่งอาญาหรือคดีอื่น ๆ " เช่นนี้ ย่อมหมายความว่ามอบอำนาจให้ฟ้อง ต่อสู้คดีและฟ้องแย้งได้ด้วย ผู้รับมอบอำนาจจึงฟ้องแย้งได้
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุมนั้นเห็นว่าจำเลยได้บรรยายในฟ้องแย้งแล้วว่า จำเลยได้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาทขึ้นมาและได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของจำเลยมานาน อีกทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในต่างประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยก็ได้จดทะเบียน สำหรับสินค้าจำพวก 38โจทก์ไม่สุจริต แสวงหาประโยชน์อันมิชอบ ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยและนำไปยื่นขอจดทะเบียน เป็นการละเมิด ขอให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เช่นนี้เป็นคำฟ้องที่แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว หาจำต้องบรรยายว่าสินค้าของจำเลยเป็นสินค้าอะไร ประชาชนผู้ใดซื้อหา จำหน่ายแพร่หลายณ ที่ใดมียอดขายเพียงใด และจำหน่ายโดยผ่านตัวแทนใดดังที่โจทก์อ้างในฎีกาไม่เพราะข้อเหล่านั้นเป็นรายละเอียดที่จะนำสืบในชั้นพิจารณา
ส่วนในประเด็นที่ว่า โจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวก 38 ดีกว่ากันนั้น โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย เพราะไม่อาจรับฟังจากเอกสารหมาย ล.3 ได้ว่า จำเลยได้ส่งสินค้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และจำเลยไม่เคยประกาศโฆษณาเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศ ส่วนโจทก์มีพยานหลักฐานสนับสนุนว่าได้ใช้เครื่องหมายการค้ามานานแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วในข้อที่ว่าศาลจะเชื่อฟังตามเอกสารหมาย ล.3 ได้เพียงใดนั้น เอกสารหมาย ล.3 มีจำนวน 22 แผ่น เป็นเอกสารภาษาต่างประเทศ 8 แผ่น กับคำแปลภาษาไทย 14 แผ่น เป็นใบกำกับสินค้าตอนนำเข้าซึ่งบริษัทจำเลยทำขึ้นเองเป็นการภายใน ระบุรายการสินค้าประเภทเสื้อผ้า มีชื่อบริษัทจำเลยชื่อผู้รับบางรายการอยู่ที่ศูนย์การค้าสอดมาบางรายการเป็นห้างเซ็นทรันดีพาร์ตเมนท์สโตร์ ถนนสีลม และส่วนใหญ่ปรากฏวัน เดือน ปี ว่า "79" ซึ่งได้แก่ พ.ศ. 2525 เอกสารฉบับภาษาต่างประเทศ มีรูปลักษณะและข้อความปราศจากพิสูจน์น่าเชื่อว่าเป็นของจริงแม้จะมิใช่เอกสารของทางราชการ แต่เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้โต้แย้งว่าจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่ประเทศอิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2511 ตามเอกสารหมาย ล.4 และจดทะเบียนไว้ที่ประเทศญี่ปุ่น ตามเอกสารหมาย ล.5 ย่อมรับฟังได้ว่าจำเลยได้ส่งสินค้าประเภทเสื้อผ้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2522แม้จำเลยจะไม่เคยประกาศโฆษณาเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทย ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยไม่เคยส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยสำหรับพยานหลักฐานโจทก์ซึ่งได้ลงโฆษณาสินค้าในหนังสือพิมพ์นั้น ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์เอกสารหมาย จ.15 เป็นฉบับวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2527 เอกสารหมายจ.16 เป็นฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 2526 และเอกสารหมาย จ.17 เป็นฉบับวันที่27 มิถุนายน 2526 เป็นเวลาหลังจากที่จำเลยส่งสินค้ามาจำหน่าย และหลังจากที่โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนรายพิพาทนี้ทั้งสิ้น จึงหามีน้ำหนักรับฟังว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่าจำเลยไม่ ในเรื่องขอจดทะเบียนในประเทศไทยก็ปรากฏว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวก 38เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2526 แต่จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2523เป็นการยื่นขอจดทะเบียนก่อนโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวก 38 ดีกว่าโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่131877 ของโจทก์ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้วฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยมีสิทธิขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 80976 และ 80775 ของโจทก์หรือไม่นั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าจำพวกที่ 47 คือ น้ำมันจักร โดยได้รับหนังสือคู่มือการจดทะเบียนเลขที่ 80735 และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าจำพวก 12 คือ มีดซอยผม ตามหนังสือคู่มือการจดทะเบียนเลขที่ 80976 ทั้งได้จำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าตามที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ส่วนจำเลยเป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าพิพาท และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในต่างประเทศเฉพาะกับสินค้าจำพวก 38เครื่องนุ่งห่มและแต่งกายมาก่อนโจทก์ แต่มิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทสำหรับสินค้าจำพวก 12 และ 47 แต่อย่างใด เช่นนี้ เห็นว่า แม้คำฟ้องแย้งของจำเลยกล่าวอ้างว่า โจทก์ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนำไปจดทะเบียนและนำเครื่องหมายการค้าไปใช้กับสินค้าของโจทก์ทำให้สาธารณชนหลงผิด ซึ่งเป็นเรื่องอ้างว่าโจทก์ลวงขายสินค้าของโจทก์ให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นสินค้าของจำเลยอันจำเลยมีอำนาจฟ้องได้แม้เป็นสินค้าคนละจำพวกหรือคนละชนิดก็ตาม แต่จากทางนำสืบของจำเลย ทั้งพยานบุคคลและเอกชนหมาย ล.3 ทั้งได้ว่าจำเลยส่งสินค้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2522 ก่อนฟ้องคดีเพียง 4 ปี เท่านั้น ปริมาณก็มิได้มากมายนักและส่งมาขายแต่เฉพาะที่ศูนย์การค้าสยามกับที่ห้างเซ็นทรัลดีพาร์ตเมนท์สโตร์ ถนนสีลมโดยเฉพาะสินค้าจำพวก 12 และ 47 นั้น ปรากฏว่านายวิรัตน์พยานจำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่เคยมีสินค้า 2 จำพวกดังกล่าว ส่วนสินค้าของโจทก์ ปรากฏจากตัวอย่างกล่องน้ำมันจักรพยาน จ.10 สลากถ่านไฟแช็คหมาย จ.11 สมุดกระดาษเปล่าหมายจ.12 และ ซองจดหมายหมาย จ.14 ว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้ารูปเอสทีโดยระบุชื่อร้านแสงธิตไว้ชัดเจน แสดงให้เห็นว่าสินค้านั้นเป็นของร้านแสงธิต เช่นนี้ โจทก์ไม่ได้ทำให้ประชาชนเกิดสับสนในแหล่งกำเนิดหรือคุณภาพสินค้าของโจทก์ถึงขนาดที่คนทั่วไปเมื่อเห็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแล้วเข้าใจว่าเป็นของบริษัทเดียวกันคือบริษัทจำเลย คดีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ลวงขายสินค้าของตนว่า เป็นสินค้าของจำเลย จำเลยจะขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 80976 และ 80775 ของโจทก์หาได้ไม่ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ