โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 67, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 91 ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินสด 12,700 บาทของกลางคืนธนบัตร 200 บาท ที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าพนักงาน
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำคุก 9 ปี ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี รวมจำคุก 14 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก 9 ปี 4 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนและเงินสด 12,700 บาท ของกลาง คืนธนบัตรทีใช้ล่อซื้อ 200 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่า ไม่ริบเงินสด 12,700 บาท ของกลาง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในการจับจำเลยซึ่งเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ดให้แก่สายลับ นอกจากเจ้าพนักงานตำรวจจะตรวจค้นพบธนบัตรฉบับละ 100 บาท 2 ฉบับ ของเจ้าพนักงานตำรวจที่ให้สายลับนำมาใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน และเมทแอมเฟตามีน 180 เม็ด ที่จำเลยมีไว้เพื่อจำหน่ายแล้วยังพบธนบัตรอีก 12,700 บาท ที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนอื่นไปก่อนหน้าที่จำเลยจะถูกจับในคดีนี้ด้วย
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ศาลมีอำนาจริบธนบัตร 12,700 บาท ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) บัญญัติว่า ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิดด้วยเมื่อธนบัตร 12,700 บาท เป็นทรัพย์ที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้การกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จำเลยจะถูกจับในคดีนี้ ศาลก็มีอำนาจริบได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น