โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 41/2548 ลงวันที่ 13 กันยายน 2548
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เลิกจ้างนายวัฒนาและนายมานะ หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่นายเฉิ่นฮอลเขิ่น กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์บอกให้นายวัฒนาและนายมานะพิจารณาตัวเอง และนางสาวเกษมณี ผู้จัดการโรงงานของโจทก์พูดกับนายวัฒนาและนายมานะว่า "พวกคุณจะเอาอย่างไร ผู้บริหารคงไม่เอาพวกคุณไว้หรอก" พร้อมกับนำหนังสือลาออกมาให้นายวัฒนาและนายมานะลงลายมือชื่อ แต่นายวัฒนาและนายมานะไม่ยอมลงลายมือชื่อ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง บัญญัติว่า "การเลิกจ้างตามมาตรานี้หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด..." การที่นายเฉิ่นฮอลเขิ่นบอกให้นายวัฒนาและนายมานะพิจารณาตัวเองนั้น ก็มีความหมายไปในทำนองให้นายวัฒนาและนายมานะตัดสินใจเองว่าจะลาออกหรือไม่เท่านั้น และที่นางสาวเกษมณีพูดว่า "พวกคุณจะเอาอย่างไร ผู้บริหารคงไม่เอาพวกคุณไว้หรอก" ก็เป็นเพียงการคาดการณ์ของนางสาวเกษมณีเองว่า โจทก์จะเลิกจ้างนายวัฒนาและนายมานะ ส่วนการที่นางสาวเกษมณีนำหนังสือลาออกมาให้นายวัฒนาและนายมานะลงลายมือชื่อนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีเงื่อนไขว่า หากนายวัฒนาและนายมานะไม่ลงลายมือชื่อในหนังสือลาออก ก็ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไปในตัวแต่อย่างใด ซึ่งหากนายวัฒนาและนายมานะไม่ยอมลงลายมือชื่อในหนังสือลาออก ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะพิจารณาลงโทษหรือมีคำสั่งเป็นกิจจะลักษณะอีกชั้นหนึ่ง พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่ามีการกระทำใดที่จะไม่ให้นายวัฒนาและนายมานะทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างโดยเด็ดขาด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เลิกจ้างนายวัฒนาและนายมานะ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง ดังกล่าวข้างต้น และเมื่อโจทก์มิได้เลิกจ้างนายวัฒนาและนายมานะโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่นายวัฒนาและนายมานะ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป
พิพากษากลับให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ 41/2548 ลงวันที่ 13 กันยายน 2548