คดีได้ความว่า เดิมโจทก์ปลูกตึกแถวรายพิพาทในที่ดินของเทศบาลนครกรุงเทพ โดยโจทก์เช่าจากเทศบาล จำเลยเหล่านี้เป็นผู้เช่าตึกแถวรายพิพาทจากโจทก์ ต่อมาวันที่ ๔ พ.ย.๒๔๙๗ เทศบาลได้ฟ้องขับไล่โจทก์ให้รื้อตึกแถวรายพิพาท ครั้นวันที่ ๑๖ มี.ค.๒๔๙๘ โจทก์ได้ทำสัญญาปรานีประนอมยอมความกับเทศบาลโดยโจทก์ยอมยกตึกรายพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเทศบาล และทางเทศบาลยอมให้โจทก์เช่าตึกแถวรายพิพาทต่อไปอีก ๑ ปี โดยมีเงื่อนไขว่าให้โจทก์ไปทำสัญญาเช่าต่อเทศบาลภายในวันที่ ๑ เม.ย.๒๔๙๘ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม แต่โจทก์ก็มิได้ไปทำสัญญากับเทศบาล และต่อมาเมื่อสัญญาเช่าตึกแถวรายพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นอายุลง โจทก์ได้เรียกจำเลยให้มาทำสัญญากันใหม่ แต่ไม่ตกลงกันเรื่องเงินกินเปล่าและระยะเวลาเช่า โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลย
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันว่า ให้ขับไล่จำเลยทุกรายและบริวารออกจากห้องเช่า ให้จำเลยใช้ค่าเช่าที่ค้างชำระ และให้จำเลยแต่ละรายใช้ค่าเสียหายแทนค่าเช่า นับ+วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกจากห้อง
จำเลยแต่ละสำนวนฎีกาในข้อฎหมายว่า
๑. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะสัญญาระหว่างโจทก์กับเทศบาลจะเกิดขึ้นต่อเมื่อวันทที่ ๑ เม.ย.๒๔๙๘ ก่อนหน้านั้นสัญญาไม่มีระหว่างโจทก์จำเลย โจทก์จึงจะอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิ์ให้เช่าไม่ได้
๒. แม้โจทก์จะเช่าจากเทศบาล โจทก์ไม่ได้ครอบครอง จำเลยเช่าจากเทศบาลตาม มาตรา ๕๖๙ จำเลยครอบครองตึก จำเลยจึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์ตาม มาตรา ๕๔๓ (๑)
๓. โจทก์ฟ้องไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียกร้องให้เทศบาลเข้ามาเป็นโจทก์ร่วม
ในประเด็นข้อ ๑. ที่ว่าโจทก์จะมีสิทธิฟ้องจำเลยได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าต้องพิจารณาตามคำพิพากษาตามยอมระหว่างโจทก์กับเทศบาลคำพิพากษา
ตามยอมนั้นแสดงว่าเทศบาลได้ยอมให้จำเลยคือโจทก์ในคดีนี้เช่าตึก ๑๓ ห้องรวมทั้งตึกที่จำเลยทั้ง ๖ คดีนี้เช่าอยู่ด้วย เมื่อเทศบาลให้จำเลยคือ โจทก์ในคดีนี้เช่าแล้ว การทำสัญญาเช่าเป้นลายลักษณอักษรเป็นแต่เพียงพิธีการ ต้องถือว่าโจทก์มีสิทธิเหนือตึกรายพิพาทนี้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยได้
ตามคำพิพากษาท้ายสัญญายอม สิทธิและหน้าที่ของโจทก์ไม่เปลี่ยนแปลง เดิมที่ตึก ๑๓ ห้องเป็นของโจทก์ ๆให้เช่าได้ เมื่อโจทก์ยกตึกให้แก่เทศบาล ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงฐานะของโจทก์ที่จะให้เช่า โจทก์จึงมีสิทธิให้จำเลยเช่าตึกพิพาทไ้ด
ส่วนฎีกาข้อ ๒-๓ ของจำเลย ๆ ไม่ได้ยกเป็นประเด็นต่อสู้ไว้ในคำให้การ ไม่วินิจฉัย
พิพากษายืน