โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 157, 162 พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง วรรคสอง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 6, 14 วรรคสาม วรรคสี่ พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 มาตรา 3, 8
จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (4) พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 6, 14 วรรคหนึ่ง (1) (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 1 ปี และปรับจำเลยที่ 2 กับที่ 3 คนละ 10,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 6 เดือน และปรับจำเลยที่ 2 กับที่ 3 คนละ 5,000 บาท โทษจำคุกของจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ 1 มีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อนางยุพิน และทางไต่สวนพยานหลักฐานในคดี (เดิม) คดีหมายเลขแดงที่ 258 ถึง 359/2560 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อนางสาวยุพินในทะเบียนบ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 จึงเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ความว่า ขณะเกิดเหตุนายรณภพหรือมหศร ซึ่งรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง 6 ว) มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชนและการทะเบียนอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง ในเขตสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย ส่วนร้อยตรีชยันต์ รับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง 8) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอแม่อาย ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย ในฐานะนายทะเบียนอำเภอหรือในฐานะนายอำเภอ นายรณภพและร้อยตรีชยันต์เป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่อนุญาตหรืออนุมัติ ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 และพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายการทะเบียนราษฏรและกฎหมายบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าว นายรณภพและร้อยตรีชยันต์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.2535 กล่าวคือ เมื่อมีบุคคลอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร. 14) โดยไม่มีหลักฐานเอกสารมาแสดงให้เจ้าบ้านหรือผู้ขอเพิ่มชื่อยื่นคำร้องตามแบบพิมพ์ที่กำหนดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ขอเพิ่มชื่อมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน เมื่อนายทะเบียนได้รับคำร้องแล้วให้ดำเนินการ ดังนี้ (1) สอบสวนเจ้าของบ้านผู้ขอเพิ่มชื่อ บิดามารดาหรือญาติพี่น้อง (ถ้ามี) หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ ประกอบการพิจารณา (2) ให้ตรวจสอบไปยังสำนักงานทะเบียนกลางว่าบุคคลที่ขอเพิ่มชื่อมีชื่อและรายการบุคคลอยู่ในทะเบียนบ้านแห่งอื่นใดหรือไม่ (3) รวบรวมหลักฐานทั้งหมดพร้อมความเห็นเสนอไปยังนายอำเภอแห่งท้องที่ (4) เมื่อนายอำเภอพิจารณาอนุมัติแล้วให้นายทะเบียนดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านพร้อมทั้งหมายเหตุในช่องย้ายเข้ามาจากว่า คำร้องที่ลงวันที่ หรือ หนังสือลงวันที่ แล้วแต่กรณี แล้วให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อและวันเดือนปีกำกับไว้ และ (5) กำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามแบบพิมพ์ที่กำหนด เมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2544 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน นายรณภพและร้อยตรีชยันต์อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือนางยุพิน ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อนางยุพินในทะเบียนบ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นการมิชอบด้วยหน้าที่ โดยมีจำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกระทำความผิดและสนับสนุนการกระทำความผิด นายรณภพและร้อยตรีชยันต์ดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นางยุพินโดยฝ่าฝืนกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ และต่อมาวันที่ 27 สิงหาคม 2544 เวลากลางวัน ภายหลังจากกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว นางยุพินอาศัยโอกาสที่นายทะเบียนอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ อนุมัติให้เพิ่มชื่อนางยุพินในทะเบียนบ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ยื่นคำร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชน (บ.ป.1) พร้อมแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่านางยุพินมีสัญชาติไทยต่อเจ้าพนักงานซึ่งรับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชนอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ให้หลงเชื่อว่านางยุพินเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง และขอให้ออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นางยุพิน จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าหากมีบุคคลใดซึ่งอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยขอเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) โดยไม่มีเอกสารมาแสดงนั้น กระบวนการภายหลังจากยื่นคำร้องแล้วต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น จนกระทั่งกำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้แก่ผู้ได้รับอนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2.1 ว่า เมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 นายรณภพและร้อยตรีชยันต์ได้อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าวร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือนางยุพินซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อนางยุพินในทะเบียนบ้านเลขที่ 24 และดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นางยุพินโดยมีจำเลยทั้งสามให้ความสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความสะดวกแก่นายรณภพและร้อยตรีชยันต์ในการกระทำความผิด และบรรยายฟ้องในข้อ 2.2 ว่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2544 นางยุพินซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้ยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมแจ้งข้อความอันเป็นเท็จว่าตนมีสัญชาติไทยต่อเจ้าพนักงานซึ่งรับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชน อำเภอแม่อาย ให้หลงเชื่อว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งสามมุ่งประสงค์ให้เพิ่มชื่อนางยุพินในทะเบียนบ้านและให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นางยุพินในที่สุดนั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากระบวนการในการกระทำความผิดดังกล่าวสำเร็จลงด้วยการออกบัตรประจำตัวประชาชนในวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า แม้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 อาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยของประเทศชาติ ทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แต่ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 มีอายุกว่า 70 ปี เมื่อนับถึงปัจจุบันก็มีอายุกว่า 80 ปีแล้ว และอาจกระทำเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตร ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติของจำเลยที่ 1 ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ไปชำระภาษีร้านค้า ณ ที่ว่าการอำเภอแม่อาย แล้วพบจำเลยที่ 1 ซึ่งรู้จักกันมาก่อนโดยบังเอิญ จำเลยที่ 1 ขอร้องให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อโดยอ้างว่าเป็นการรับรองหลานของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีเจตนาร้าย ทั้งในชั้นพิจารณา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ให้การรับสารภาพอันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความรู้สำนึกในความผิดของตน ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน