โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 35 เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่โดยได้รับการยกให้จากบิดาโจทก์ที่ 2 ตั้งแต่ปี 2515 และโจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา เมื่อเดือนมิถุนายน 2536 จำเลยได้บุกรุกเข้าไปไถที่ดินของโจทก์ทั้งสองและให้โจทก์ทั้งสองออกจากที่ดิน โดยอ้างว่าที่ดินเป็นของจำเลย และจำเลยได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายไม่ต่ำกว่าปีละ 10,000 บาท ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามฟ้องเป็นของโจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง กับให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ โดยให้จำเลยไปขอเพิกถอนที่สำนักงานที่ดินกิ่งอำเภอพลับพลาชัยภายใน 7 วัน นับแต่วันพิพากษา หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 10,000 บาท นับแต่ปี 2536 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินตามฟ้อง
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกมีว่า ที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.4 เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ 2 งาน 89 วา เป็นของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองที่นำสืบมาแล้วมีน้ำหนักฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนายลัดบิดาโจทก์ที่ 2 และที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า โจทก์ทั้งสองได้ครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทตลอดมา และเพิ่งมีเหตุพิพาทกับจำเลยในปี 2536 จำเลยเองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า ในปี 2522 ฝนแล้ง โจทก์ทั้งสองได้ออกไปทำงานต่างจังหวัด ต่อมาปี 2523 โจทก์ทั้งสองก็กลับมาทำนาในที่ดินพิพาท ปี 2536 จำเลยเพิ่งไปแจ้งความดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองในข้อหาบุกรุกที่ดินพิพาท แสดงว่าจำเลยยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2523 ถึง 2536 โจทก์ทั้งสองครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทซึ่งสอดคล้องกับพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองครอบครองทำนาในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2515 จนกระทั่งปี 2536 เว้นไม่ได้ทำปี 2522 ส่วนจำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทได้รับมาจากนายวังบิดาจำเลย พยานบุคคลที่จำเลยนำสืบโดยอ้างว่าต่างรู้เห็นว่าจำเลยได้รับที่ดินพิพาทจากบิดาจำเลยก็ล้วนแต่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยทั้งสิ้นจึงมีน้ำหนักน้อยประกอบกับจำเลยได้รับ น.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.6ตั้งแต่ปี 2522 และจำเลยเบิกความรับว่า โจทก์ทั้งสองเข้าทำนาในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2523 แต่จำเลยเพิ่งร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองในปี 2536 จึงเป็นพิรุธ ส่วนหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ที่จำเลยอ้างว่าเป็นการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาท ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 นั้น แต่ตามหลักฐานดังกล่าวซึ่งเป็นแบบ ภ.บ.ท.5 และใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่แสดงถึงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินเนื้อที่ประมาณ 31 ถึง 38 ไร่เอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 จึงไม่อาจยืนยันได้ว่าเป็นการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาท ส่วนหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ของโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.2 จ.3 และ จ.5 ซึ่งนายทวีเบิกความยืนยันว่า โจทก์ที่ 2 เป็นผู้นำสำรวจเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาท และเป็นคนเสียภาษีบำรุงท้องที่แก่นายทวีในช่วงที่นายทวีเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเนื้อที่ที่ระบุในแบบ ภ.บ.ท.5 เอกสารหมาย จ.3 และแบบแสดงรายการที่ดินเอกสารหมาย จ.5 ก็มีประมาณ 10 ไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับที่ดินพิพาท จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินพิพาทพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการที่สองมีว่าโจทก์ทั้งสองเสียหายหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองปีละ 8,000 บาท
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปมีว่าจะเพิกถอน น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.6 ได้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องว่าจำเลยออก น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.6ทับที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ แต่ทางพิจารณาได้ความว่าตาม น.ส.3 ก. ดังกล่าวยังคลุมถึงที่ดินของจำเลยด้วย การเพิกถอนน.ส.3 ก. เอกสารหมาย จ.6 ต้องเพิกถอนทั้งฉบับซึ่งย่อมกระทบถึงสิทธิของจำเลยในส่วนที่ดินที่เป็นของจำเลย จึงไม่มีเหตุเพิกถอน น.ส.3 ก.ตามเอกสารหมาย จ.6 เมื่อศาลฎีกาฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง และ น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.6 ออกทับที่ดินพิพาท จำเลยต้องแก้ไข น.ส.3 ก. ฉบับดังกล่าวให้มีผลคลุมเฉพาะที่ดินของจำเลยเท่านั้น การที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. ตามเอกสารหมาย จ.6 เฉพาะส่วนที่ทับที่ดินพิพาทนั้น ย่อมมีผลทำนองเดียวกับการแก้ไข น.ส.3 ก. ไม่ให้มีผลคลุมถึงที่ดินพิพาท คงให้มีผลคลุมถึงเฉพาะที่ดินส่วนของจำเลยเท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยไปขอแก้ไขได้
พิพากษากลับเป็นว่า ที่ดินพิพาทภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.4 เนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ ตั้งอยู่บ้านกัดลิ้น หมู่ที่ 5 ตำบลสำโรง กิ่งอำเภอพลับพลาชัยจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยไปขอแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทะเบียนเลขที่ 1402เล่ม 15 ก. หน้า 2 เลขที่ดิน 176 ตำบลแสลงโทน อำเภอประโคนชัยจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ให้มีผลเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทดังกล่าว หากไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองปีละ 8,000 บาท นับแต่ปี 2536เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท คำขอนอกจากนี้ให้ยก