โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม ป.อ. มาตรา ๓๓, ๘๓, ๙๑, ๓๓๕, ๓๓๖ ทวิ พ.ร.บ. อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๔, ๕, ๖, ๗, ๙, ๑๐, ๑๒ พ.ร.ฎ. กำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๓ คืนรังนกของกลางแก่เจ้าของ ริบของกลางอื่น
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๓๕ (๑) (๗) วรรคสาม (ที่ถูกวรรคสอง), ๓๓๖ ทวิ พ.ร.บ. อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๕ วรรคหนึ่ง, ๖, ๗, ๙, ๑๐, ๑๒ พ.ร.ฎ. กำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. ๒๔๘๕ มาตรา ๓ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ ฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา ๙๐ ให้จำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๖ ปี ฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๑ ปี ฐานขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ปรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๙๐ บาท รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๗ ปี ปรับคนละ ๙๐ บาท จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๔ ปี ๘ เดือน และปรับคนละ ๖๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง คืนรังนกของกลางแก่เจ้าของ ริบของกลางอื่น ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นจำคุกคนละ ๑ ปี รวมกับโทษฐานมีรังนกอีแอ่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุกคนละ ๒ ปี จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ คนละ ๑ ปี ๔ เดือน ไม่คืนรังนกอีแอ่นของกลางแก่ผู้เสียหาย ยกฟ้องความผิดฐานลักทรัพย์และฐานเข้าหรือขึ้นไปบนเกาะที่นกอีแอ่นทำรัง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ว่า การที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้เหล็กแหลมแทงรังนกอีแอ่นอันเป็นการทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นและมีรังนกอีแอ่นของกลางดังกล่าวไว้ในครอบครอง เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. อากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. ๒๔๘๓ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้ในขณะเกิดเหตุนั้น มาตรา ๕ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการใด ๆ อันสามารถอาจเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นหรืออาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นละที่อาศัยไปจากเกาะที่ทำรังอยู่ตามธรรมชาติ หรือกระทำ ความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น บรรดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะ มาตรา ๗ บัญญัติว่า ผู้ใดจะเก็บรังนกอีแอ่นบรรดาที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะ ต้องได้รับอนุญาตและเสียเงินอากรตามวิธีการซึ่งจะได้กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา ๙ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่น อันตนรู้ว่าได้มาโดยกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้ จะเห็นได้ว่าการกระทำผิดฐานกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น ต้องมีเจตนาในการกระทำต่อรังนกอีแอ่นในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รังนกที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นกรณีที่อาศัยเจตนาอย่างหนึ่ง ส่วนการมีไว้ใน ครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นนั้น เป็นการกระทำที่ต้องอาศัยเจตนาในการยึดถือเพื่อตนซึ่งรังนกอีแอ่น การกระทำผิดในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวมีสภาพและลักษณะของการกระทำที่แตกต่างกัน สามารถแยกการกระทำเป็นคนละส่วนต่างหากจากกันได้ ถึงแม้บทลงโทษในความผิดดังกล่าวอยู่ในมาตราเดียวกันก็ตาม ก็เป็นเพียงการบัญญัติลักษณะของการกระทำผิดต่าง ๆ มากำหนดโทษไว้ในที่แห่งเดียวเพราะมีอัตราโทษเท่ากันนั้น กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษ ผู้กระทำผิดในแต่ละกรณีเป็นรายกระทงไป แม้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำผิดทั้งสองฐานในคราวเดียวกันและต่อเนื่องกัน การกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษาให้เรียงกระทง ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา ๙๑ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ฟังไม่ขึ้น
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ริบอาวุธปืนออโตเมติก ขนาด ๙ มม. จำนวน ๑ กระบอก ซองบรรจุกระสุน ๑ อัน กระสุนปืนขนาด ๙ มม. จำนวน ๒ นัด ซองพก ๑ ซอง และปลอกกระสุนปืนขนาด ๙ มม. ๑ ปลอก ของกลาง ที่นายยงยุทธ ชูแก้ว ใช้ยิงต่อสู้เจ้าพนักงานตำรวจนั้น เมื่อปรากฏว่าของกลางดังกล่าวเป็นของ นายยงยุทธ แต่นายยงยุทธถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิงตายในที่เกิดเหตุ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องนายยงยุทธย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๑) และโทษย่อมระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๘ จึงไม่อาจ ริบของกลางดังกล่าวได้ และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบอาวุธปืนออโตเมติก ขนาด ๙ มม. จำนวน ๑ กระบอก ซองบรรจุกระสุนปืน ๑ อัน กระสุนปืนขนาด ๙ มม. จำนวน ๒ นัด ซองพก ๑ ซอง และปลอกกระสุนปืนขนาด ๙ มม. ๑ ปลอก ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๙.