ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลพิจารณาเหตุผลที่กว้างกว่าความผิดร้ายแรงตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานได้
การเลิกจ้างของนายจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควร ที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ เหตุดังกล่าวอาจเกิดจากการกระทำของลูกจ้างหรือเหตุอื่นที่มิใช่การกระทำหรือความผิด ของลูกจ้างก็ได้ ส่วนการเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยจะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
ข้อเท็จจริงที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ มีขอบเขตกว้างกว่าที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119
แม้การกระทำของโจทก์จะไม่เป็นความผิดร้ายแรงถึงขนาดที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาได้ และโจทก์ทำงานบกพร่องหลายครั้ง ผู้บังคับบัญชา เตือนแล้วยังไม่ดีขึ้นทำให้จำเลยเสียหาย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรไม่เป็นการ เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
จำเลยเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างชำระและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ แต่โจทก์และจำเลยยังมีข้อโต้เถียงกันว่า จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจงใจไม่จ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มให้แก่โจทก์ร้อยละ 15 ของเงิน ที่ค้างจ่ายทุกระยะ 7 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคสอง