โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 201,745.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 144,750 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 144,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 12 กันยายน 2555 ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 94,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 12 กันยายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของโจทก์ มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเสมียน โดยรวบรวมเงินที่จำเลยที่ 1 รับชำระจากเจ้าของร่วมและผู้พักอาศัยนำไปฝากธนาคารตามระเบียบ แต่จำเลยที่ 2 ไม่ตรวจสอบหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 1 จัดทำ โดยหากมีใบเสร็จรับเงินที่ถูกยกเลิกต้องนำต้นฉบับมาแนบกับสำเนาแล้วบันทึกเป็นหลักฐานไว้ อันเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปตามรายการยกเลิกใบเสร็จรับเงินระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2554 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 การกระทำของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์เสียหาย แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาแต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ซึ่งโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุดและมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 36 ความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 บัญญัติให้ตัวแทนจะต้องรับผิดถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใด ๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทน ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดทั้งในมูลผิดสัญญาตัวแทนและในมูลละเมิด ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 12 กันยายน 2555 และจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องในมูลผิดสัญญาตัวแทนนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซํ้าและการดำเนินกระบวนพิจารณาซํ้ากับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และนาย ฝ. หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด เพื่อมิให้กระบวนพิจารณาล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก
ปัญหาว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซํ้าและการดำเนินกระบวนพิจารณาซํ้ากับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และนาย ฝ. หรือไม่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และนาย ฝ. นั้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และนาย ฝ. รับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่นาย ฝ. เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2555 ซึ่งความรับผิดของจำเลยที่ 2 และนาย ฝ. มิใช่การรับผิดร่วมกัน แต่เป็นความรับผิดของแต่ละคนที่จะต้องรับผิดเฉพาะในช่วงเวลาที่ตนเป็นผู้จัดการของโจทก์เท่านั้น และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซํ้าและการดำเนินกระบวนพิจารณาซํ้ากับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และนาย ฝ.
ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใดนั้น เห็นว่า ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่บริหารงานของนิติบุคคลอาคารชุดให้เป็นไปโดยเรียบร้อยรวมถึงต้องดูแลเรื่องการเงินของนิติบุคคลอาคารชุดให้ถูกต้องเหมาะสม การตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายของนิติบุคคลดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเสมียนมีหน้าที่เก็บเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ค่านํ้าประปา ค่าไฟฟ้า ค่าจอดรถ และค่าบริการต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องปกติที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดต้องทำการตรวจสอบการทำหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้การบริหารงานของโจทก์เป็นไปโดยเรียบร้อย ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวธนันพัชญ์ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดของโจทก์ว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 สามารถกระทำการทุจริตเบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ไปได้เนื่องจากจำเลยที่ 2 บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ตรวจสอบบัญชีรายรับและไม่ตรวจสอบกรณีที่มีการยกเลิกใบเสร็จรับเงินแล้วไม่นำต้นฉบับใบเสร็จรับเงินที่ถูกยกเลิกมาแนบติดกับสำเนาและบันทึกเป็นหลักฐานกำกับไว้ เมื่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมซึ่งมีการประชุมเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2556 ขอให้จำเลยที่ 2 แสดงความรับผิดชอบ จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดโดยขอผ่อนชำระเดือนละ 5,000 บาท จำเลยที่ 2 ผ่อนชำระมาแล้ว 10 งวด จำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 2 ตอบคำถามค้านทนายความโจทก์เจือสมพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ถามเพียงว่าทำไมต้องยกเลิก ใบเสร็จรับเงิน แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้บันทึกเป็นหลักฐานไว้ในสมุดเล่มใหญ่ที่ใช้คุมใบเสร็จรับเงิน ทั้งจำเลยที่ 2 ยังเบิกความตอบทนายความโจทก์ถามค้านรับว่า การตรวจสอบการทุจริตของนิติบุคคลโจทก์นั้น โจทก์จะมีสมุดคุมเล่มใหญ่ หากมีการยกเลิกใบเสร็จรับเงินจะมีการขีดฆ่าด้วยหมึกสีแดง โดยในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมีการยกเลิกใบเสร็จรับเงิน 66 ฉบับ ซึ่งเป็นรายการยกเลิกใบเสร็จรับเงินในช่วงระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 ภายในเวลาเพียง 3 เดือนเศษ แต่ปรากฏว่ามีรายการยกเลิกใบเสร็จรับเงินถึง 66 ฉบับ เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด แม้จำเลยที่ 1 จะทำใบเสร็จรับเงินขึ้นมาอีก 1 ชุด ที่มีรูปแบบและเลขหมายเดิมเพื่อลวงจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 อ้างก็ตาม แต่ก็มิใช่เรื่องซับซ้อน จำเลยที่ 2 สามารถตรวจสอบได้จากบัญชีรายรับรายจ่ายและสมุดเล่มใหญ่ที่ใช้คุมใบเสร็จรับเงิน การที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของตน เป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบใบเสร็จรับเงินที่มีการยกเลิกให้ถูกต้องเพื่อให้การบริหารงานของโจทก์เป็นไปโดยเรียบร้อย ทั้งจำเลยที่ 2 ยังแสดงความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยขอผ่อนชำระต่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมและผ่อนชำระมาแล้วถึง 10 งวด พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีนํ้าหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบใบเสร็จรับเงินที่มีการยกเลิกให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ไม่เกินไปกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ดังนั้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 เพียงใด ก็ต้องนำมาหักชำระหนี้ในส่วนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วย
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ทั้งนี้หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 แล้วเพียงใด ก็ให้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ลดลงเพียงนั้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ