โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของจำเลยตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) เลขที่ 1001010/1/102595 ถึง 102602 ลงวันที่ 30 มกราคม 2547 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามหนังสือ (ภ.ส. 7 ) เลขที่ สภ.1(อธ.2)/225 - 232/2547 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2547 งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) เลขที่ 1001010/1/02595 (ที่ถูก 102595) ถึงเลขที่ 1001010/1/102602 ลงวันที่ 30 มกราคม 2537 (ที่ถูก 2547) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.1(อธ.2)/225/2547 ถึง เลขที่ สภ.1(อธ.2)/232/2547 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2547 โดยให้งดเบี้ยปรับที่เรียกเก็บจากโจทก์ทั้งหมด แต่ในส่วนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บภาษีประเภทเงินเดือนและค่าน้ำมันรถยนต์ที่โจทก์ได้รับจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสายไฟไทยอุตสาหกรรมเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และประเมินเงินเข้าบัญชีที่โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ที่มาและได้รับเป็นค่าอะไร โดยถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ให้โจทก์ต้องชำระภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับปีภาษี 2536 ถึงปีภาษี 2540 และนำรายรับเงินเข้าบัญชีซึ่งโจทก์ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนของปีภาษี 2537, ปีภาษี 2539 และปีภาษี 2540 เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ซึ่งโจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) การประเมินให้โจทก์ชำระภาษีถือว่าวิธีการตรวจสอบและประเมินภาษีนั้นเป็นการตรวจสอบและประเมินภาษีตามมาตรา 19 ถึง มาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบและประเมินโดยวิธีพิเศษโดยกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้นอันจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรเสียก่อน ตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนตามการประเมินในแต่ละปีภาษีพิพาท เมื่อเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้รับหลักฐานเงินฝากบัญชีของโจทก์ในธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักพหลโยธิน และธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) เงินฝากดังกล่าวของโจทก์เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินที่ได้รับ จึงถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินฝากตามรายการที่เกิดขึ้นแต่ละเดือนส่วนที่เป็นเงินเดือนและค่าน้ำมันรถยนต์ที่โจทก์ได้รับจากนายจ้าง เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยถือว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 56 ให้ผู้มีหน้าที่ยื่นรายการตามมาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 57 ทวิ และมาตรา 57 ตรี ยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนด แสดงรายการเงินได้เฉพาะตามมาตรา 40 (5) (6) (7) หรือ (8) ไม่ว่าจะมีเงินได้ประเภทอื่นรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ภายในเดือนกันยายนของทุกปีภาษี" และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 28) ลงวันที่ 20 เมษายน 2531 กำหนดแบบแสดงรายการที่ยื่นตามมาตรานี้คือแบบ ภ.ง.ด. 94 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ตามมาตรา 56 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ห้างหุ้นส่วนจำกัดสายไฟไทยอุตสาหกรรมผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามมาตรา 50 แห่งประมวลรัษฎากร ห้างหุ้นส่วนจำกัดสายไฟไทยอุตสาหกรรมผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ในการเสียภาษี โดยต้องร่วมรับผิดชำระตามจำนวนเงินที่มิได้หักและนำส่งตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษียังคงมีหน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามประมวลรัษฎากร อีกทั้งตามมาตรา 55 แห่งประมวลรัษฎากร ก็บัญญัติว่า "อำนาจการเก็บเงินภาษีโดยวิธีหักไว้ตามมาตรา 50 และมาตรา 53 มิให้เป็นเหตุเสื่อมสิทธิของเจ้าพนักงานประเมินในการที่จะเรียกเก็บเงินภาษีนั้นโดยวิธีอื่น" ดังนั้น เมื่อโจทก์มีหน้าที่ยื่นรายการและชำระภาษีตามกฎหมาย แต่ไม่ยื่นแบบและชำระภาษีตามกฎหมาย โจทก์จึงต้องรับผิดชำระภาษี เงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามการประเมิน โจทก์เป็นผู้มีการศึกษาและมีรายได้สูง ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการโรงงาน อยู่ในเกณฑ์ที่มีเงินได้พึงประเมินต้องเสียภาษี ก่อนที่โจทก์ทำงานกับห้างหุ้นส่วนจำกัดสายไฟไทยอุตสาหกรรม โจทก์เคยยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การที่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ปีภาษี 2536 ถึงปีภาษี 2540 รวม 5 ปีภาษีติดต่อกัน มิใช่เกิดเพราะความหลงลืมของโจทก์ แต่มีพฤติการณ์ซึ่งโจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัดสายไฟไทยอุตสาหกรรม ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีทั้งระบบ โจทก์จึงเป็นผู้ร่วมขบวนการหลีกเลี่ยงภาษี การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย เป็นคุณแก่โจทก์มากพอสมควรแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะลดหรืองดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์อีก
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ