คดีสืบเนื่องมาจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 13,440 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยการเปลี่ยนเงินต่างประเทศเป็นเงินไทยให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และเวลาที่ใช้เงิน หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดิน โฉนดที่ดินเลขที่ 166107 ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และที่ดินตามโฉนดเลขที่ 20558 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้ไม่พอให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งห้าใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 100,000 บาท
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อ รับโอน และบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน ผู้ร้องได้จดทะเบียนไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 ผู้ร้องได้ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากโจทก์ ตามสำเนาสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ ระหว่างที่คดีตามคำร้องอยู่ในระหว่างการบังคับคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องตามคำร้องฉบับลงวันที่ 28 กันยายน 2555 โจทก์ จำเลยทั้งห้า และเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้รับสำเนาคำร้องของผู้ร้องแล้วไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดคัดค้าน คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ตามคำร้องของผู้ร้องเป็นกรณีการยื่นคำร้องเพื่อขอเข้ามาสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อบังคับคดีแก่จำเลยทั้งห้าตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องได้บรรยายโดยปรากฏรายละเอียดว่า คดีนี้ศาลได้มีคำพิพากษาแล้วเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2553 คดีถึงที่สุดแล้วและอยู่ในระหว่างบังคับคดี ผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลและจดทะเบียนไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อประกอบธุรกิจเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้ซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากโจทก์ซึ่งรวมถึงหนี้ของจำเลยในคดีนี้ แม้คำร้องของผู้ร้องจะกล่าวว่าเป็นการขอเข้ามาเพื่อสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ซึ่งไม่ตรงตามที่มาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้กำหนดไว้ก็ตาม แต่เนื่องจากการยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นการยื่นคำร้องเข้ามาภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องเข้ามาสวมสิทธิเป็นคู่ความในคดีแทนโจทก์เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาแทนโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความเดิม หากแต่ตามคำร้องของผู้ร้องเมื่อพิจารณาประกอบกันทั้งหมดแล้วเห็นได้ว่า เป็นการยื่นคำร้องเข้ามาขอเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายหลังจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษา เพื่อบังคับตามคำพิพากษานั่นเอง เพียงแต่ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยใช้ถ้อยคำผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปว่าเป็นการร้องขอเข้ามาสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ทั้งคำร้องของผู้ร้องก็ปรากฏชัดเจนว่าเป็นการขอเข้ามาสวมสิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ต่อจำเลยในคดีนี้ อันได้แก่จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา และไม่ปรากฏว่ามีคู่ความฝ่ายใดรวมไปถึงเจ้าพนักงานบังคับคดีคัดค้าน ดังนั้น จึงชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผู้ร้องนั่นเอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ