โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยเข้าไปในห้องพักอันเป็นเคหสถานของนางวราภรณ์ ผู้เสียหายที่ 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักสร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง ราคา 5,000 บาท รูปสัญลักษณ์ศาสนาอิสลามทองคำหนัก 1 สลึง ราคา 2,500 บาท และโทรทัศน์ ราคา 13,000 บาท รวมเป็นเงิน 20,500 บาท ของผู้เสียหายที่ 1 ที่เก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการจิกผม กระชาก ตบ ต่อย เตะ ที่ใบหน้าและลำตัว และใช้พัดลมตั้งโต๊ะตีศีรษะของผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หลังจากนั้นลักเงิน 1,000 บาท ของนายโสรส ผู้เสียหายที่ 2 ไป โดยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ หรือให้พ้นจากการจับกุม โดยใช้รถกระบะเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 295, 339, 340 ตรี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 20,500 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และเงิน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาทำร้ายร่างกาย ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 340 ตรี จำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง และรูปสัญลักษณ์ศาสนาอิสลาม ส่วนโทรทัศน์เป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลย จึงให้จำเลยคืนราคาทรัพย์เพียง 14,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และเงิน 1,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า นางวราภรณ์ ผู้เสียหายที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยมาก่อน โดยจดทะเบียนสมรสเมื่อปี 2538 มีบุตรด้วยกัน 3 คน ต่อมาเมื่อปี 2548 ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยได้จดทะเบียนหย่าตามสำเนาใบสำคัญการหย่าเอกสารหมาย จ.1 หลังจากหย่ากับจำเลยแล้ว ผู้เสียหายที่ 1 ได้เดินทางไปทำงานที่จังหวัดระยองพักอาศัยอยู่ที่บ้านเช่าในตำบลนิคมพัฒนา กิ่งอำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับนายโสรส ผู้เสียหายที่ 2 คืนเกิดเหตุจำเลยเดินทางจากบ้านพักในอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ไปหาผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้รถกระบะ เมื่อไปถึงบ้านพักของผู้เสียหายที่ 1 จำเลยเคาะประตูห้อง ผู้เสียหายที่ 2 ไปเปิดประตู ขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 กำลังเดินออกมาจากห้องน้ำ จำเลยได้ตรงเข้าไปหาผู้เสียหายที่ 1 แล้วกระชากสร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง พร้อมรูปสัญลักษณ์ศาสนาอิสลามทองคำหนัก 1 สลึง แล้วลงมือตบตีผู้เสียหายที่ 1 ทั้งยังหยิบพัดลมที่ตั้งอยู่ภายในห้องมาทุบตีผู้เสียหายที่ 1 บริเวณศีรษะ 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บตามรายงานตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้อง หลังจากนั้นจำเลยได้ขอเงินจากผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 1,000 บาท เป็นค่าน้ำมันรถ หากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมให้เงินจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ต่อไป ผู้เสียหายที่ 2 จึงยอมให้เงินจำเลยไป 1,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยยังได้เอาโทรทัศน์ขนาด 25 นิ้ว 1 เครื่อง ราคา 13,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ผู้เสียหายที่ 1 กับจำเลยซื้อมาใช้ร่วมกันในขณะที่ยังอยู่กินฉันสามีภริยาขึ้นรถกระบะแล้วขับออกไป คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องตามมาตรา 339 ประกอบมาตรา 340 ตรี ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพนั้น มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือมีโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง จึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง คดีนี้แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องได้ ต่อเมื่อพยานโจทก์ตามที่นำสืบรับฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี จริง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องและพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว แต่จำเลยก็ยังใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ ทั้งตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 เนื้อหาอุทธรณ์ในส่วนแรกได้โต้แย้งว่าจำเลยซึ่งเป็นอดีตสามีของผู้เสียหายที่ 1 ไปพบผู้เสียหายที่ 1 ที่บ้านพักแล้วพบว่ามีผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในห้องพัก จึงเกิดความโกรธแล้วจึงกระตุกสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่ 1 ไป หาได้ประสงค์ทรัพย์ของผู้อื่นไม่ อันเป็นทำนองว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิด ส่วนอุทธรณ์ตอนท้ายได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษโดยไม่คำนึงถึงสาเหตุแห่งการกระทำความผิด พฤติการณ์ในการกระทำความผิด จึงขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดโทษให้เบาลงและรอการลงโทษด้วย อุทธรณ์ของจำเลยจึงได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานและการลงโทษจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์ตามฟ้องแล้ว จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยหรือเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงชอบที่จะต้องวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คงวินิจฉัยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการลดโทษและรอการลงโทษ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่ชอบ ประกอบกับจำเลยได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในชั้นพิจารณาพอที่จะทำคำวินิจฉัยได้แล้ว จึงไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์รับฟังยุติได้ว่า ขณะที่จำเลยไปเคาะประตูเรียกที่บ้านพักของผู้เสียหายที่ 1 มีผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นคู่รักใหม่ของผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้มาเปิดประตูห้อง ทันทีที่จำเลยเห็นผู้เสียหายที่ 1 เดินออกมาจากห้องจึงเข้าไปทำการกระตุกสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายที่ 1 แล้วหลังจากนั้น จึงทำการตบตีผู้เสียหายที่ 1 นั้น เห็นว่า การตบตีทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เกิดขึ้นหลังจากจำเลยได้กระตุกสร้อยคอของผู้เสียหายที่ 1 จนหลุดออกแล้ว ดังนั้น การกระตุกสร้อยคอกับการตบตีทำร้ายร่างกาย จึงแยกออกเป็น 2 ตอน จำเลยมิได้ลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 1 เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 (1) แต่ตามที่จำเลยเข้าไปกระทำการกระตุกสร้อยคอของผู้เสียหายที่ 1 จนขาดออกจากกันและเอาสร้อยคอกับรูปสัญลักษณ์ศาสนาอิสลามทองคำ 1 องค์ไป จึงเป็นเรื่องที่จำเลยใช้กิริยาฉกฉวยเอาสร้อยคอและรูปสัญลักษณ์ศาสนาอิสลามทองคำของผู้เสียหายที่ 1 ไปซึ่งหน้า จึงเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยฉกฉวยเอาสร้อยคอของผู้เสียหายที่ 1 ไปซึ่งหน้า อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ และคำขอท้ายฟ้องมิได้ขอให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ จึงเห็นว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ คงลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) วรรคสอง ซึ่งเป็นความผิดที่ประกอบเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์ให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน ส่วนในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 นั้น แม้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษมาแล้วจำเลยก็ให้การสารภาพในความผิดดังกล่าวมาก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาตามฟ้องว่าเป็นการกระทำกรรมเดียว และโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ ศาลฎีกาชอบที่จะปรับบทความผิดและบทลงโทษให้ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 อีกกรรมหนึ่งได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
ส่วนการที่จำเลยยกเอาโทรทัศน์ 1 เครื่อง ราคา 13,000 บาท ของผู้เสียหายที่ 1 ที่มีไว้ใช้ในห้องพักไปนั้น ผู้เสียหายที่ 1 ก็เบิกความยอมรับว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ได้ร่วมกันซื้อไว้ใช้ในขณะที่ยังอยู่กินเป็นสามีภริยากัน จำเลยยกเอาโทรทัศน์ดังกล่าวไปภายหลังจากจำเลยเห็นผู้เสียหายทั้งสองอยู่ด้วยกันในห้องพักที่เกิดเหตุ เชื่อว่าจำเลยกระทำไปด้วยความโกรธและหึงหวงผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเคยเป็นภริยาตน อีกทั้งก่อนกลับออกไปจำเลยยกเอาแต่โทรทัศน์ไปโดยมิได้เอาทรัพย์สินอื่นไปอีกทั้งที่สามารถกระทำได้ พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยกระทำไปโดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิกระทำได้แสดงว่าไม่มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีเจตนาทุจริต การที่จำเลยเอาโทรทัศน์ไปจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
สำหรับความผิดฐานชิงทรัพย์เงินของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 1,000 บาท นั้น ผู้เสียหายทั้งสองเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยขอเงินเป็นค่าน้ำมัน ผู้เสียหายที่ 2 เห็นว่าเพื่อไม่ให้จำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 จึงได้ให้เงินจำเลยไปนั้น เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่พูดขอเงินกับผู้เสียหายที่ 2 ว่า หากไม่ให้เงินจะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ต่อไป เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้เงิน 1,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินตามที่จำเลยขอ การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 (1) วรรคสอง แต่ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่ 2 ตามฟ้อง พิพากษาลงโทษในความผิดฐานดังกล่าวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาตามฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวและโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ ศาลฎีกาชอบที่จะพิพากษาปรับบทความผิดและบทลงโทษให้ถูกต้องได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 (1) วรรคสอง อีกกรรมหนึ่งได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) วรรคสอง, 295, 337 (1) วรรคสอง ลงโทษฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนและในเคหสถาน จำคุก 1 ปี และปรับ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ต่อ 1 ครั้ง ภายในระยะเวลารอการลงโทษ กับให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นของโจทก์ให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2