โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 111,446.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 100,408.61 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 63,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ตฉ 5021 กรุงเทพมหานคร ไว้จากบริษัทวัน - พาเลท กรุ๊ป จำกัด มีระยะเวลาประกันภัยเริ่มต้นวันที่ 30 กันยายน 2548 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2549 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2549 จำเลยนำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไปขับโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน วภ 7681 กรุงเทพมหานคร ที่นางบุญสม เป็นผู้ขับ รถยนต์ที่นางบุญสมขับได้รับความเสียหายและผู้โดยสารในรถได้รับอันตรายแก่กาย หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรศรีราชาทำการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดของจำเลย ปรากฏว่า จำเลยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือด 163 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยหมวดการคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก ข้อ 4 ถือว่า บุคคลซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง และตามข้อ 7.6 ยกเว้นไม่คุ้มครองการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่ตามข้อ 8 มีข้อสัญญาพิเศษว่า ผู้รับประกันภัยจะไม่นำเงื่อนไขข้อ 7.6 มาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด และในกรณีที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัย แต่ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วในความรับผิดที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยได้จ่ายไปนั้นคืนภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือเรียกร้องจากผู้รับประกันภัย โจทก์ชำระค่าซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน วภ 7681 กรุงเทพมหานคร ไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 จึงเรียกให้จำเลยชดใช้เงินคืนโดยอ้างเงื่อนไขกรมธรรม์ดังกล่าว
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ตฉ 5021 กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแล้วเกิดอุบัติเหตุชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน วภ 7681 กรุงเทพมหานคร ที่นางบุญสมขับได้รับความเสียหาย จึงเสมือนจำเลยเป็นผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก โดยไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่ยกเว้นความคุ้มครองกรณีการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพื่อปฏิเสธการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ การที่โจทก์เข้าใช้ค่าซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน วภ 7681 กรุงเทพมหานคร จึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้เสียหาย ซึ่งบุคคลภายนอกอาจใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ในวินาศภัยที่จำเลยซึ่งเป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยก่อให้เกิดขึ้น แม้โจทก์กับจำเลยมิได้เป็นคู่สัญญาประกันภัยกันโดยตรงก็ตาม แต่โจทก์มีความผูกพันที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกเงินที่ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ให้แก่บุคคลภายนอกไปคืนจากผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย แตกต่างจากการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความในมาตรา 882 วรรคหนึ่ง และกรณีหาใช่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดโดยโจทก์รับช่วงสิทธิมาจากผู้ต้องเสียหายดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไว้ไม่ จึงนำอายุความละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 มาใช้บังคับมิได้ เมื่อโจทก์เข้าใช้หนี้ส่วนนี้แล้วย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์จ่ายไปคืนแก่โจทก์ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย หมวดการคุ้มครองความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก ข้อ 8 วรรคสาม ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ชำระค่าซ่อมรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 17 เมษายน 2551 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะเห็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ ซึ่งกำหนดให้จำเลยต้องใช้เงินที่โจทก์จ่ายไปคืนภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือเรียกร้องจากโจทก์ เมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัด แต่ข้อเท็จจริงคงได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินคืนภายใน 7 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้รับหนังสือทวงถามแล้วหรือไม่ เมื่อใด จึงต้องถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาที่คู่ความยังโต้แย้งกันอยู่ต้องคำนวณตามจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อคำนวณแล้วเป็นทุนทรัพย์ 70,284.93 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล 1,757.50 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาในทุนทรัพย์ 111,446.68 บาท เป็นเงิน 2,785 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมา 1,027.50 บาท แก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ดอกเบี้ยให้นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 เมษายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมา 1,027.50 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ