โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279,285 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62, 106
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277วรรคสอง, 279 วรรคสองประกอบมาตรา 285 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี และเป็นการกระทำแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลจำคุกกระทงละ 16 ปี รวมสามกระทงจำคุก 48 ปี ฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้ายและเป็นการกระทำแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลจำคุกกระทงละ 4 ปี รวมสองกระทงจำคุก 8 ปี รวมทั้งสิ้นจำคุก 56 ปี แต่คงให้จำคุกจำเลยเพียง 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี โดยขู่เข็ญโดยใช้กำลังประทุษร้ายและเป็นการกระทำแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลรวมสามกระทง ให้เรียงกระทงลงโทษทั้งสามกระทง แต่โจทก์ไม่อุทธรณ์ในปัญหานี้ โทษจึงให้เป็นไปตามศาลชั้นต้นกำหนด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุเด็กหญิงผู้เสียหายอายุ 12 ปีเศษ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านสันติสุข ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน2536 ผู้เสียหายกับเพื่อนนักเรียนหญิงรวม 18 คน เข้าค่ายฝึกซ้อมกีฬาของโรงเรียนโดยพักนอนค้างคืนที่ห้องสมุดของโรงเรียน ส่วนจำเลยเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและวอลเลย์บอลที่โรงเรียนดังกล่าว และเป็นผู้ควบคุมดูแลนักกีฬาหญิงในการเข้าค่ายฝึกซ้อมกีฬาของโรงเรียนด้วย ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2537 มารดาผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราและกระทำอนาจารผู้เสียหาย วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและให้การปฏิเสธเฉพาะคดีเกี่ยวกับความผิดต่อพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และความผิดฐานอนาจารเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2536 เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่มีความผิดสำหรับความผิดฐานอนาจาร เมื่อวันที่ 25 และ 26 ตุลาคม 2536 กับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2536 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 4 ปี รวมสองกระทงจำคุก 8 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดรวมสามกระทง ให้เรียงกระทงลงโทษทั้งสามกระทง แต่โจทก์ไม่อุทธรณ์ในปัญหานี้ โทษจึงให้เป็นไปตามศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาต้องกันให้ลงโทษจำเลยกระทงละ 4 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เมื่อวันที่ 22, 23 และ 24 ตุลาคม 2536 จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งอายุไม่เกินสิบสามปีและเป็นศิษย์อยู่ในความดูแลของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียวที่ยืนยันว่า ตามวันเวลาดังกล่าวถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราและถูกจำเลยกระทำอนาจาร แต่โจทก์ก็มีเด็กหญิงสุนิตตา ดาวดอน เด็กหญิงสายฝน สวัสดิ์รักษ์ และเด็กหญิงบุษยา สันทอง เป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเห็นจำเลยเข้าไปในมุ้งของผู้เสียหายหลายครั้ง ผู้เสียหายยืนยันด้วยว่า เหตุที่ทราบว่า จำเลยเป็นคนร้ายเนื่องจากห้องสมุดที่ผู้เสียหายกับพวกนอนมีช่องลมมาก แสงจันทร์สลัวส่องเข้ามาจึงมองเห็นและทราบได้ว่าเป็นจำเลย นอกจากนี้โจทก์มีแพทย์หญิงโฉมพิลาศ จงสมชัย ผู้ตรวจอวัยวะเพศของผู้เสียหายเป็นพยานเบิกความประกอบรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย ป.จ.1 ว่า มีรอยอักเสบบริเวณปากช่องคลอด และพยานมีความเห็นว่าผู้เสียหายน่าจะได้รับการกระทำชำเราจริงเห็นได้ว่าผู้เสียหายเป็นศิษย์ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยย่อมมีความคุ้นเคยและจดจำบุคลิกลักษณะของจำเลยได้เป็นอย่างดี ผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงหากเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เป็นความจริงผู้เสียหายคงไม่กล้ายืนยันเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นสิ่งน่าอับอายและเสียหายต่อชื่อเสียงอันเป็นผลร้ายต่อผู้เสียหายเอง ทั้งผู้เสียหายก็เบิกความไปตามลำดับขั้นตอนและสมเหตุผล กรณีน่าเชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความไปตามความเป็นจริง มิได้ถูกเสี้ยมสอนให้เบิกความดังที่จำเลยอ้าง ไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ดังกล่าวมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะระแวงหรือสงสัยว่าพยานโจทก์จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ ที่จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของแพทย์หญิงโฉมพิลาศ แพทย์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น พยานโจทก์ขัดแย้งกับคำเบิกความของนายแพทย์พีระพงษ์ชาติธรรมรักษ์ แพทย์โรงพยาบาลเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ตรวจอวัยวะเพศของผู้เสียหายเป็นคนแรก และมีความเห็นว่าปกติ หากผู้เสียหายถูกข่มขืนกระทำชำเราและปรากฏร่องรอยของการข่มขืนกระทำชำเราจริงแล้ว นายแพทย์พีระพงษ์ต้องตรวจพบสิ่งผิดปกติดังกล่าวอย่างแน่นอน เพราะนายแพทย์พีระพงษ์ตรวจอวัยวะเพศของผู้เสียหายก่อนแพทย์หญิงโฉมพิลาศ ถึง 3 วัน คำเบิกความของแพทย์หญิงโฉมพิลาศจึงปรักปรำจำเลยไม่น่าเชื่อและรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่าแม้นายแพทย์พีระพงษ์เป็นผู้ตรวจอวัยวะเพศของผู้เสียหายและมีความเห็นว่าเป็นปกติ แต่ขณะที่นายแพทย์พีระพงษ์ตรวจนั้นเป็นวันที่ 31 มกราคม 2537 หลังจากผู้เสียหายถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราครั้งสุดท้ายเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบาดแผลนี้ได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์พีระพงษ์ตอบโจทก์ถามค้านว่า ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน หากไม่มีการร่วมประเวณีซ้ำอีกบาดแผลก็จะหายเป็นปกติ นอกจากนี้โจทก์มีพันตำรวจโทสิริชัย กิ่งแผง เป็นพยานยืนยันว่า ได้ส่งผู้เสียหายไปโรงพยาบาลเกษตรสมบูรณ์เพื่อให้แพทย์ตรวจหาร่องรอยการกระทำชำเราแพทย์ผู้ตรวจอวัยวะเพศของผู้เสียหายแจ้งว่า ตรวจดูเฉพาะภายนอกเท่านั้น ไม่ได้ตรวจภายในเนื่องจากเครื่องมือไม่พร้อม พยานจึงส่งผู้เสียหายไปโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เห็นได้ว่าหากโรงพยาบาลเกษตรสมบูรณ์มีเครื่องมือพร้อมและแพทย์ได้ตรวจภายในอวัยวะเพศของผู้เสียหายแล้วกรณีก็ไม่มีเหตุที่พันตำรวจโทสิริชัย ต้องส่งผู้เสียหายไปให้แพทย์โรงพยาบาลศรีนครินทร์จังหวัดขอนแก่น ตรวจอวัยวะเพศของผู้เสียหายซ้ำอีกข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า นายแพทย์พีระพงษ์ตรวจอวัยวะเพศของผู้เสียหายเฉพาะภายนอกเท่านั้น คำเบิกความของแพทย์หญิงโฉมพิลาศกับคำเบิกความของนายแพทย์พีระพงษ์จึงมิได้ขัดแย้งกัน แพทย์หญิงโฉมพิลาศไม่รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุที่จะเบิกความปรักปรำจำเลยดังที่จำเลยอ้าง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า คืนเกิดเหตุวันที่ 21, 22 และ 23 ตุลาคม 2536 (ที่ถูกคืนเกิดเหตุตามฟ้องวันที่ 22, 23 และ 24 ตุลาคม 2536) เป็นวันขึ้น 6 ค่ำ 7 ค่ำ และ8 ค่ำ ตามลำดับ ดวงจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้าเวลาประมาณ 23 นาฬิกา และเป็นเพียงดวงจันทร์ครึ่งเสี้ยวเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายยืนยันว่าเหตุเกิดเวลาประมาณ 3 ทุ่ม ดังนั้น ขณะเกิดเหตุดวงจันทร์ยังไม่โผล่พ้นขอบฟ้าจึงไม่มีแสงจันทร์ให้ผู้เสียหายเห็นจำเลยนั้น เห็นว่า ตามสูตรสำเร็จเวลาดวงจันทร์ขึ้นจากพื้นพิภพเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่าในแต่ละวันดวงจันทร์จะขึ้นจากพื้นพิภพเวลาเท่าไร และจะขึ้นช้าลงวันละ 48 นาที ทั้งดวงจันทร์จะตกลงพื้นหลังจากขึ้นแล้ว 12 ชั่วโมง เช่นนี้ วันเกิดเหตุวันที่ 22 ตุลาคม2536 ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ ตามสูตรสำเร็จดังกล่าว ดวงจันทร์ขึ้นจากพื้นพิภพเวลา 11.36นาฬิกา และดวงจันทร์ตกลงพื้นเวลา 23.36 นาฬิกา ดังนั้นช่วงวันเวลาเกิดเหตุวันที่ 22,23 และ 24 ตุลาคม 2536 ดวงจันทร์ขึ้นจากพื้นพิภพแล้วทั้งสิ้น ขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นเวลากลางคืนย่อมมีแสงจันทร์ดังที่ผู้เสียหายเบิกความ ข้ออ้างอื่นในฎีกาของจำเลยนอกจากนี้เป็นข้อปลีกย่อยไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย คดีฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 22, 23 และ 24 ตุลาคม 2536 จำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งอายุไม่เกินสิบสามปีและเป็นการกระทำแก่ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลย พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน