โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบร่วมกันส่งมอบศพพระครูสว่าง หรือพระครูวิจิตรสารธรรมแก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสิบเพิกเฉย ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบ ห้ามจำเลยทั้งสิบและบริวารเกี่ยวข้องกับศพ และให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันส่งมอบเหรียญวัตถุมงคลพระครูสว่าง 48 ถุง 65 รายการ แก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ให้ร่วมกันชดใช้เงิน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสิบให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 8 ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 8 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบศพพระครูวิจิตรสารธรรม ผู้มรณภาพ ให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับศพผู้มรณภาพ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า พระครูสว่าง หรือพระครูวิจิตรสารธรรม เป็นเจ้าอาวาสวัดบางลายเหนือ จำเลยที่ 1 จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2543 ผู้มรณภาพมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 11 คน ขณะมรณภาพคงเหลือโจทก์ นางเปีย นายเรือง และนางสาวดอกรัง ที่มีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบันและเป็นทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าอาวาสถัดจากผู้มรณภาพ จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 เป็นไวยาวัจกร ส่วนจำเลยที่ 4 ที่ 6 ที่ 9 และที่ 10 เป็นกรรมการวัดจำเลยที่ 1 หลังจากพระครูวิจิตรสารธรรมมรณภาพแล้ว ได้นำศพผู้มรณภาพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดจำเลยที่ 1 จากนั้นได้สร้างมณฑปเพื่อเก็บศพผู้มรณภาพจนแล้วเสร็จในปี 2545 โดยนำศพผู้มรณภาพบรรจุในโลงแก้วตั้งอยู่ภายในมณฑปดังกล่าวภายในวัดจำเลยที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ต่อมาปี 2559 โจทก์ขอศพผู้มรณภาพจากจำเลยที่ 2 เพื่อนำไปฌาปนกิจ จำเลยที่ 2 ไม่ยินยอม คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ที่ 9 และที่ 10 รวมทั้งคำขอให้ร่วมกันส่งมอบเหรียญวัตถุมงคลตามฟ้อง เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกา
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบศพพระครูวิจิตรสารธรรม ผู้มรณภาพ แก่โจทก์หรือไม่ ในประเด็นนี้เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ที่ต้องจัดการทำศพผู้มรณภาพ สำหรับผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 กำหนดลำดับก่อนและหลังไว้ดังนี้ คือ
1. บุคคลซึ่งผู้ตายตั้งไว้ให้เป็นผู้จัดการทำศพของผู้ตาย
2. ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม
3. บุคคลที่ทายาทมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทำศพ
4. บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรมหรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุด
5. บุคคลที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทำศพ
คดีนี้ปรากฏว่า ผู้มรณภาพมิได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้จัดการมรดก ส่วนข้อที่โจทก์นำสืบว่า ก่อนมรณภาพ ผู้มรณภาพได้สั่งเสียให้โจทก์นำศพผู้มรณภาพไปฌาปนกิจด้วยวาจานั้น เมื่อพิจารณาถึงบทบัญญัติตามมาตรา 1646 ที่ว่า "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้" แสดงว่าการจัดการทำศพเป็นกิจการอย่างหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ตาย ดังนั้น การจะทำให้บังเกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายก็ต้องแสดงเจตนาโดยทำเป็นพินัยกรรม ซึ่งจะต้องทำตามแบบใดแบบหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ 5 แบบ ตามมาตรา 1655 ถึงมาตรา 1663 โดยมาตรา 1663 กำหนดหลักเกณฑ์ที่จะทำพินัยกรรมด้วยวาจาไว้หลายประการ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าผู้มรณภาพสั่งเสียโจทก์ให้ช่วยฌาปนกิจศพผู้มรณภาพก็ตาม แต่ไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จะกระทำได้ กล่าวคือ
1. ไม่มีพฤติการณ์พิเศษซึ่งผู้มรณภาพไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม เป็นต้น
2. ผู้รับการแสดงเจตนาซึ่งเป็นพยานอย่างน้อยสองคนต้องไปแสดงตนต่อกรมการอำเภอโดยมิชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งด้วยวาจา ทั้งต้องแจ้งวัน เดือน ปี สถานที่ที่ทำพินัยกรรมและพฤติการณ์พิเศษนั้นไว้ด้วย
3. กรมการอำเภอจดข้อความที่พยานแจ้งนั้นไว้ และให้พยานสองคนนั้นลงลายมือชื่อไว้
ดังนั้น คำสั่งเสียของผู้มรณภาพที่ให้โจทก์เป็นผู้จัดการทำศพผู้มรณภาพย่อมไม่บังเกิดผลตามบทกฎหมายข้างต้น อย่างไรก็ดี ตามคำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าผู้มรณภาพมีทรัพย์มรดกได้แก่เงินฝากในธนาคารและวัตถุมงคล แม้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าวัตถุมงคล ไม่เชื่อว่ามีอยู่จริง ส่วนเงินฝากในธนาคารนั้นจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นไวยาวัจกรและกรรมการวัดของจำเลยที่ 1 ในปี 2561 ก็เบิกความว่าไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เนื่องจากไวยาวัจกรและกรรมการวัดของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นถึงแก่ความตายไปหมดแล้ว อันเป็นการเจือสมกับพยานเอกสารซึ่งเป็นรายงานการตรวจสอบบัญชีการเงินของวัดจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่า "1. ส่วนปัจจัยเงินสดที่ติดตัวพระครูวิจิตรสารธรรมที่ค้นพบและรวบรวมตอนย้ายจากวัดบ่อปิ้งเกลือไปวัดพร้าว ประมาณ 300,000 บาท (แจ้งว่าจดไว้ขณะไปส่งที่วัดพร้าว อำเภอโพทะเล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2543) ตามที่ผู้ร้องเรียนมา ปรากฏว่าคณะกรรมการวัดชุดใหม่ไม่ทราบ... เพราะคณะกรรมการชุดเก่าได้เสียชีวิตไปหมดแล้ว" ข้อเท็จจริงจึงมีน้ำหนักให้รับฟังว่า ขณะถึงแก่มรณภาพ ผู้มรณภาพมีทรัพย์มรดกเป็นเงินสดและที่ฝากไว้กับธนาคารจำนวนหนึ่ง ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าทรัพย์สินดังกล่าวได้มาเมื่อใด แต่ปรากฏว่าผู้มรณภาพอุปสมบทเป็นพระภิกษุมาเป็นเวลานานจนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดจำเลยที่ 1 ทั้งมีภูมิลำเนาอยู่ที่วัดจำเลยที่ 1 เชื่อว่า ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้มรณภาพได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศ ย่อมตกเป็นสมบัติของวัดจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1623 ส่วนโจทก์และน้องคนอื่นของผู้มรณภาพ แม้เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 ตามมาตรา 1629 (3) ก็ไม่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกดังกล่าวของผู้มรณภาพ ย่อมไม่อาจที่จะมอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพผู้มรณภาพ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามผลของมาตรา 1623 อันเป็นจำนวนมากที่สุด จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพผู้มรณภาพตามมาตรา 1649 วรรคสอง เมื่อวินิจฉัยมาดังนี้แล้วจึงไม่ต้องพิจารณาฎีกาในประเด็นอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบศพผู้มรณภาพแก่โจทก์ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบศพพระครูวิจิตรสารธรรมผู้มรณภาพ ให้แก่โจทก์ และคำขอห้ามจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องกับศพผู้มรณภาพ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6