โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 12,727 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 78,996 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าชดเชย 65,830 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 65,830 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.3 ว่า การที่โจทก์นำงานเหมามาทำงานในเวลาทำงานปกติเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ระบุว่า "ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างภายหลังไม่ได้" บทบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างโดยให้นายจ้างแสดงเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบว่าลูกจ้างนั้นถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลใด ซึ่งลูกจ้างอาจพิจารณาต่อไปได้ว่าเหตุผลดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ ลูกจ้างสมควรที่จะเรียกร้องค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญาจ้างนั้นหรือไม่ เพียงใด และเมื่อนายจ้างแสดงเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างแล้วจึงจะยกเหตุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 ขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในภายหลังได้ ตามหนังสือปลดพนักงานได้ระบุว่าโจทก์ลักลอบนำงานเหมามาทำในเวลาทำงานปกติเป็นการระบุพฤติกรรมที่จำเลยอ้างว่าโจทก์กระทำผิด และจำเลยเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการกระทำผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อต่างๆ รวมทั้งในหมวด 9 วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 5.1 เรื่องทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งจำเลยเห็นว่าเป็นความผิดร้ายแรงที่จำเลยสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยอันเป็นเหตุผลที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และตามหนังสือปลดพนักงานดังกล่าวแสดงเหตุที่จำเลยเห็นว่าโจทก์กระทำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) และ (4) โดยกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรง ดังนั้น เมื่อจำเลยระบุพฤติกรรมของโจทก์และเหตุผลในการเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้เพียงสองประการดังกล่าว โดยไม่ได้ระบุว่าการกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ซึ่งความผิดดังกล่าวได้ระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวด 9 วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 5.2 และเป็นกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุว่าโจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายขึ้นอ้างในคำให้การและอุทธรณ์ได้ แม้ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์ข้อ 2.4 ซึ่งจำเลยอุทธรณ์ว่า พฤติกรรมของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรงแล้วนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้ และมิได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง โจทก์ไม่เคยถูกตักเตือนมาก่อนและโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน ลักษณะการจ้างมิได้ถือเอาการทำงานแต่ละวันเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าจ้าง การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ที่ต้องทำงานในเวลาปกติ แล้วนำงานเหมาที่จำเลยให้พนักงานรับไปทำตามประกาศที่ 9/42 เรื่องข้อปฏิบัติในการทำงานเหมาไปทำในเวลาทำงานปกติเป็นแต่เพียงการละทิ้งหน้าที่ในเวลาไม่นานนัก แม้การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงการทำงานปกติไปบ้างและเป็นผลให้จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างโดยไม่ได้รับประโยชน์จากการทำงานเป็นการตอบแทน แต่ก็เป็นไปเพื่อให้จำเลยได้รับประโยชน์จากงานเหมาของจำเลยเอง ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวด 9 วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 5.1 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) ส่วนที่ระบุในหนังสือปลดพนักงานว่าโจทก์ฝ่าฝืนประกาศที่ 9/42 เรื่องข้อปฏิบัติในการทำงานเหมา ข้อ 4 และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวด 9 วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 3.1.3 ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของบริษัทฯ ที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด ข้อ 3.4.4 พนักงานต้องใช้เวลาในการทำงานทั้งหมดของตนให้เป็นประโยชน์ต่องานตามหน้าที่ ข้อ 3.4.15 พนักงานจะต้องปฏิบัติหน้าที่หรือความรับผิดชอบตามที่ผู้บังคับบัญชากำหนด ข้อ 3.8.8 พนักงานต้องไม่แจ้งหรือให้ข้อความอันเป็นเท็จต่อผู้บังคับบัญชา ข้อ 3.9.6 พนักงานต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบธรรมของผู้บังคับบัญชาหรือบริษัทฯ ทั้งคำสั่งด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร และการสื่อข้อความอื่นๆ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าวเป็นแต่เพียงวินัยของพนักงานโดยทั่วไป ซึ่งหากฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษตามข้อ 4 โดยเป็นไปตามลักษณะแห่งความผิดหรือความหนักเบาของการกระทำผิดหรือร้ายแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งแยกต่างหากจากกรณีที่สามารถเลิกจ้างได้โดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามข้อ 5 โจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่ แม้โจทก์จะฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานดังกล่าว แต่นายจ้างยังสามารถตักเตือนเป็นหนังสือได้ การกระทำของโจทก์จึงมิใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น...
พิพากษายืน.