โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลย 4 ปี และปรับ 40,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรจำนวน 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 แต่ตามคำร้องขอฝากขังคดีหมายเลขดำที่ ฝ.210/2562 ระบุพฤติการณ์แห่งคดีว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 นายโชคชัย พนักงานรักษาความปลอดภัยของผู้เสียหายตรวจค้นรถซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ขับ พบสิ่งผิดปกติจึงใช้กล้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพวัตถุที่ต้องสงสัย ทั้งฟ้องข้อ 2. บรรยายว่าเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 จำเลยได้รับการปล่อยตัวไป จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 มิใช่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งคำร้องขอฝากขังดังกล่าวพออนุโลมได้ว่าเป็นส่วนประกอบของฟ้องถือว่าฟ้องระบุรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาโดยผิดหลง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว
ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ได้ความตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติซึ่งจำเลยไม่คัดค้านว่า จำเลยเตรียมการนำรถยนต์ไปจอดใกล้กับห้องเก็บเครื่องจักรที่เก็บหม้อแปลงแรงดันไฟฟ้าตีเกลียวเส้นด้าย หลังจากเลิกงานจำเลยเข้าไปยกหม้อแปลงดังกล่าวน้ำหนักตัวละประมาณ 10 กิโลกรัม มาเก็บไว้ในรถทีละตัว รวม 10 ตัว แล้วจำเลยนำผ้ามาวางคลุมปิดหม้อแปลงเพื่อป้องกันมิให้พนักงานรักษาความปลอดภัยพบเห็น ขณะที่จำเลยขับรถออกประตูบริษัทผู้เสียหายพนักงานรักษาความปลอดภัยขอตรวจค้นพบหม้อแปลงดังกล่าว จำเลยอ้างว่าซื้อมาจากร้านของเก่า เห็นว่า จำเลยเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายควรปฏิบัติต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่จำเลยกลับอาศัยโอกาสที่ผู้เสียหายไว้วางใจกระทำการโดยวางแผนปิดบังอำพรางเพื่อลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปในเวลากลางคืน ทั้งยังใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกในการกระทำผิดอีกด้วย เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย แสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง แม้ผู้เสียหายได้ทรัพย์ของกลางคืนไปแล้ว และไม่ประสงค์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย แต่ต้องการดำเนินคดีแก่จำเลยเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่พนักงานคนอื่น การที่จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีภาระต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว ก็ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย เมื่อไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยแล้ว จึงเห็นควรไม่ลงโทษปรับและไม่คุมความประพฤติของจำเลย ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี ก่อนลดโทษ เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว แต่ที่ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับ ไม่รอการลงโทษจำคุก และไม่คุมความประพฤติของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1