ได้ความว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสอง มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๖๓, ๑๓๒, ๒๒๒, ๒๒๔, ๒๒๕, ๒๒๙, ๒๓๐, ๓๐๔ พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๑๘ ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๑๕๑, ๑๖๑, ๑๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๔๑ แต่ให้ลงโทษจำเลยตามบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่ากฎหมายลักษณะอาญา ให้จำคุกจำเลยคนละ ๖ ปี ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา ๒๖๖ ประกอบด้วย มาตรา ๓ และ ๙๑ ลดโทษนายสมรวยกึ่งหนึ่ง นายชาญชัยจำเลย ๑ ใน ๓ คงจำคุกนายสมรวย ๓ ปี นายชาญชัย ๔ ปี และใช้เงินแก่การรถไฟด้วย
นายชาญชัยจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะบทลงโทษให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๓๐ ส่วนกำหนดโทษ การลดโทษ และการใช้ทรัพย์ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
นายชาญชัยจำเลยฎีกาว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ มีส่วนมีคุณแก่จำเลย อันควรนำมาปรับบทลงโทษจำเลย
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจกำหนดโทษจำเลยมากน้อยเท่าใด ก็ชอบที่จะปรับบทเสียก่อนว่า ควรต้องโทษจำเลยด้วยบทมาตราใด ปรับบทตามกฎหมายแล้วจึงให้ดุลยพินิจกำหนดโทษได้ภายในอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในบทมาตรานั้น ๆ อัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๓๐ สูงกว่าอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ โดยศาลอาจจะวางโทษจำคุกตาม มาตรา ๒๓๐ ได้ถึง ๑๐ ปีและ วางโทษต่ำกว่า ๕ ปี ก็ไม่ได้ด้วย ถ้าวางโทษตาม มาตรา ๑๖๒ จะวางได้เพียง ๗ ปี เป็นอย่างสูง และไม่มีโทษขั้นต่ำด้วย มาตรา ๑๖๒ จึงมีส่วนเป็นคุณแก่จำเลย และโดยเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ย่อมมีผลถึงนายสมรวยจำเลย ซึ่งมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ส่วนกำหนดโทษและลดโทษคงวางเท่าเดิม
พิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ นอกนั้นยืนตาม