โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84, 90, 91, 92, 93, 334, 335 (7), 357 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 8, 10, 41, 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 8, 10, 41, 42 (2) ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 8, 10 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 8, 10 ประกอบมาตรา 25, 42 (2) เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานไม่ทำใบหุ้นมอบให้ผู้ถือหุ้น ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6,000 บาท ฐานไม่มีสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 6,000 บาท รวมปรับคนละ 12,000 บาท ฐานลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 8,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนตั้งแต่จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ถึงปัจจุบัน โจทก์และจำเลยที่ 2 เคยอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส เนื่องจากโจทก์มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว ก่อนฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 2 เคยใช้ชื่อว่านางสาวฐิภัสสร ช่วงจดทะเบียนตั้งจำเลยที่ 1 ในปี 2547 ใช้ชื่อ นางสาวภัคณอร ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ถึงเดือนตุลาคม 2553 และใช้ชื่อนางสาวชัญวีร์กร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2553 จนถึงปัจจุบัน จำเลยที่ 2 มีนางสมหมายเป็นมารดา จำเลยที่ 2 ต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุก 20 ปี ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3042/2560 ของศาลชั้นต้น ในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 8, 10, และจำเลยที่ 2 ในความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ มาตรา 8, 10, ประกอบมาตรา 25, 42, (2) จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ฎีกา คงมีแต่โจทก์และจำเลยที่ 3 ฎีกา ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาสรุปว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่อาจรับฟังว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ลงข้อความเท็จในเอกสารบริษัท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้น โจทก์นำสืบในข้อนี้ว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2561 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวโจทก์และจำเลยที่ 3 ได้ร่วมจัดทำบัญชีผู้ถือหุ้นโดยจำเลยที่ 3 สามีใหม่ของจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดทำบัญชีผู้ถือหุ้นฉบับลงวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ณ วันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 โดยระบุผู้ถือหุ้นจำนวน 3 คน มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้น จำนวน 225,000 หุ้น หรือร้อยละ 75 ของจำนวนหุ้น และประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 เป็นเท็จ โดยไม่มีชื่อของโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น เพราะความจริงโจทก์มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 อยู่ 45,000 หุ้น จากจำนวนหุ้น 300,000 หุ้น นางสมหมาย มีหุ้นอยู่ 30,000 หุ้นและนางสาวชัชฎาภรณ์ยังเป็นผู้ถือหุ้น โดยในวันที่ระบุว่ามีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าว จำเลยที่ 2 ยังรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำและไม่มีการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น จำเลยทั้งสามได้นำส่งสำเนาบัญชีผู้ถือหุ้นที่ทำขึ้นอันเป็นเท็จนำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทประกาศโฆษณาให้ประชาชนโดยทั่วไปทราบว่าโจทก์และนางสมหมายไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์และนางสมหมายซึ่งมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ขาดประโยชน์อันควรได้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์และนางสมหมาย เมื่อพิจารณาบัญชีผู้ถือหุ้นก็มีรายชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่จำนวน 45,000 หุ้น มาก่อนและนำสืบยืนยันว่าไม่มีการเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 และวันที่ 22 ตุลาคม 2561 อันเป็นเหตุที่จะมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นมาเป็น 3 คน โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นจำนวนถึง 225,000 หุ้นได้ ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาอ้างว่าโจทก์ไม่มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 และโจทก์นำสืบถึงพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 มิได้ จำเลยที่ 3 จึงถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิด ย่อมทำให้การกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิดนั้น เห็นว่า เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาโต้แย้งข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิใช่เจ้าของหุ้นในบริษัทจำเลยกึ่งหนึ่ง ทำให้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไปว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันจัดตั้งจำเลยที่ 1 ขึ้นและทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าบุคคลอื่นที่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ชำระเงินค่าหุ้นและมิได้แสดงความเป็นเจ้าของหุ้นอย่างชัดแจ้ง ถือว่าบุคคลผู้มีรายชื่อนอกเหนือจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 ได้ถือหุ้นแทนโจทก์หรือจำเลยที่ 2 แล้วแต่กรณี ทำให้รับฟังว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นเจ้าของหุ้นของจำเลยที่ 1 คนละครึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 และผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ทราบดีว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างเป็นเจ้าของหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 คนละครึ่ง การที่จำเลยที่ 2 โอนหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 โดยมีส่วนที่เป็นของโจทก์รวมอยู่ด้วยไปให้จำเลยที่ 3 โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องขอหุ้นส่วนที่เป็นของตนคืนได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ดังนั้น ที่จำเลยที่ 3 อ้างในฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามก็ดีและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 โอนหุ้นในส่วนของโจทก์ก็ดี โดยเหตุผลประการเดียวว่าโจทก์ไม่มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงรับฟังไม่ได้ ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าโจทก์นำสืบมุ่งเน้นแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์มิควรได้เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่นิติบุคคลอย่างไร การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิด เมื่อเป็นเช่นนี้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดไปด้วย นั้น เห็นว่า โจทก์นำสืบพยานหลักฐานจนมีน้ำหนักฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 นำหุ้นที่โจทก์เป็นเจ้าของอยู่ครึ่งหนึ่งไปเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ร่วมมือกับจำเลยที่ 3 โดยให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากจำเลยที่ 2 เป็นชื่อจำเลยที่ 3 ทั้งหมดจำนวน 255,000 หุ้น ซึ่งมีส่วนของโจทก์รวมอยู่ด้วยโดยไม่ปรากฏว่ามีการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง อันเป็นการทำเอกสารเท็จ จำเลยที่ 3 ซึ่งรับว่าเป็นสามีใหม่ของจำเลยที่ 2 เบิกความเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ว่าเป็นผู้ดำเนินการจัดทำเอกสารเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นการลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทนำไปให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อที่เรือนจำ ย่อมทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อยู่ในวิสัยดำเนินการเองได้ น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ร่วมมือกับจำเลยที่ 2 กระทำการดังกล่าว ซึ่งความข้อนี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยโดยละเอียดครบถ้วนแล้วและพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 แต่โดยฐานะจำเลยที่ 3 มิใช่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยที่ 1 จึงลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 2 ฐานลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยที่ 2 ให้หนักขึ้นฐานกระทำผิดโดยไม่เข็ดหลาบและไม่นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3042/2560 ของศาลชั้นต้นตามคำขอท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ย่อมเป็นการไม่ชอบ นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายกล่าวในฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2477/2557 หมายเลขแดงที่ 3042/2560 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นฐานกระทำผิดโดยไม่เข็ดหลาบและขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวนั้น เมื่อในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ยอมรับว่ารับโทษจำคุกในเรือนจำในคดีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและโจทก์อ้างส่งคำพิพากษาคดีดังกล่าว อีกทั้งปรากฏจากสำนวนมีคำสั่งเบิกตัวจำเลยที่ 2 ของศาลชั้นต้น ก็ระบุคดีหมายเลข อ.2477/2557 ของศาลชั้นต้นไว้ นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 แก้ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในอาญาหมายเลขแดงที่ อ.3042/2560 ของศาลชั้นต้นนั้น ชอบแล้วโดยอ้างเหตุคดีดังกล่าวไม่ถึงที่สุดนั้น ย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2477/2557 หมายเลขแดงที่ อ.3042/2560 ของศาลชั้นต้นนั้นเอง ศาลฎีกาจึงนับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 คดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดีในส่วนที่โจทก์ขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นโดยกระทำผิดฐานไม่เข็ดหลาบนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษหนักตามสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ควรมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัท มิใช่มีความผิดเพียงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดดังกล่าวดังที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ 2499 มาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท กระทำ หรือยินยอมให้กระทำการดังต่อไปนี้...(2) ลงข้อความเท็จหรือไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีหรือเอกสารของ ฯ บริษัท" แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตัวของผู้กระทำความผิดไว้ว่าต้องเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัท จึงจะลงโทษเป็นตัวการกระทำผิดได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มิได้มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทจำเลยที่ 1 แม้จะร่วมกันกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 กระทำความผิดดังกล่าว ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานเป็นตัวการได้ คงลงโทษจำเลยที่ 3 ได้เพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลงข้อความเท็จของบริษัท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2477/2557 หมายเลขแดงที่ อ.3042/2560 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์