โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 288, 358, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 8 ทวิ, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางสุภาภรณ์ผู้เสียหายและภริยาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกต้องระบุว่า อนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์ได้เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 358)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 358, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น เป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 และมาตรา 376 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 15 ปี ฐานพาอาวุธปืน (เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 15 ปี และปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 7 ปี 6 เดือน และปรับ 1,000 บาท ริบของกลาง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โทษจำคุกที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 กำหนดมาสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นนั้นเหมาะสมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้ลุแก่โทษโดยให้การรับสารภาพ แม้จะเป็นการรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้วก็เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอย่างมาก มีเหตุบรรเทาโทษ จึงเห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนมานั้น ยังไม่ถูกต้อง เพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยเปิดเผยและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 8 ทวิ วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามบทมาตราดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แม้ความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจะมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท และศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยสำหรับความผิดกระทงนี้ให้ปรับจำเลยสถานเดียวโดยมิได้ลงโทษจำคุก แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยเพิ่มขึ้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษที่ลงแก่จำเลยได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 นอกจากนี้การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาปรับจำเลยโดยมิได้ปรับบทบังคับค่าปรับมาด้วย ยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเสีย
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง, 72 ทวิ วรรคสอง ส่วนความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 แล้วคงจำคุก 25 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วเป็นจำคุก 25 ปี และปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6