โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 145, 310, 337 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาสุกร จำนวน 10 ตัว ราคา 3,000 บาท ที่ไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 145, 337 (2) เป็นความผิดหลายกรรม เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแสดงตนและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันกรรโชกทรัพย์ของผู้อื่นโดยมีอาวุธปืนติดตัวมาขู่เข็ญ จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนสุกร จำนวน 10 ตัว หรือใช้ราคาเป็นเงิน 3,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 วรรคหนึ่ง, 337 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันกรรโชก จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 3 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และพวก ซึ่งเป็นผู้คุมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งภายในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้ตั้งด่านตรวจที่ริมถนนทางเข้าสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก และได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ทำการตรวจค้นผู้เสียหายทั้งสอง โดยที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการดังกล่าว เมื่อพบว่าผู้เสียหายทั้งสองใช้รถยนต์กระบะบรรทุกสุกรมาโดยไม่มีใบอนุญาตในการเคลื่อนย้ายจึงร่วมกันเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง โดยขู่เข็ญว่าจะจับกุมผู้เสียหายทั้งสองส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินคดีฐานเคลื่อนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ผู้เสียหายทั้งสองไม่มีเงินจึงยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกนำสุกรของผู้เสียหายทั้งสองไปขายและยอมมอบเงินที่ขายสุกรได้ให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกไปจำนวน 20,000 บาท กับยอมให้เอาสุกรที่เหลือไป (พยานหลักฐานจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์) ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังไม่เป็นความผิดฐานกรรโชก เนื่องจากยังไม่มีการข่มขืนใจและผู้ถูกข่มขืนใจไม่ได้มอบทรัพย์สินอันเนื่องมาจากความกลัวว่าจะได้รับอันตรายต่อเสรีภาพนั้น เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ดังที่ได้วินิจฉัยมาฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกได้กระทำการขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งสองว่าจะส่งผู้เสียหายทั้งสองแก่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินคดีและเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง ซึ่งต่อมาผู้เสียหายทั้งสองก็ได้มอบเงินที่ได้จากการขายสุกรให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจึงเป็นความผิดฐานกรรโชกแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นความผิดกรรมเดียวไม่ใช่หลายกรรมต่างกันนั้น เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานขอตรวจค้นรถของผู้เสียหายทั้งสองเป็นความผิดแล้วหนึ่งกรรม เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกพบสุกรบรรทุกมาโดยไม่มีใบอนุญาตก็ขู่เข็ญว่าจะจับกุมผู้เสียหายทั้งสองส่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เพื่อดำเนินคดีและร่วมกันเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง เป็นความผิดฐานกรรโชก การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก มีเจตนาและกระทำการคนละขั้นตอนกับความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจึงเป็นความผิด 2 กรรมต่างกัน และฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการสุดท้ายเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกที่ตั้งจุดตรวจค้นและเมื่อผู้เสียหายทั้งสองขับรถบรรทุกผ่านมาก็แจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นรถของผู้เสียหายทั้งสอง เป็นการแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.