โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาจะขายเรือนให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ ทำผิดสัญญาโดยได้เอาเรือพิพาทไปขายให้จำเลยที่ ๒ จึงขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมขายเรือนระหว่างจำเลยทั้งสองนั้นเสีย แล้วให้จำเลยที่ ๑ โอนขายเรือนรายนี้ให้แก่โจทก์
ทางพิจารณาได้ความว่า พ.ต.หลวงจรูญฯ กับจำเลยที่ ๑ เป็นสามีภริยากัน เรือนรายพิพาทเป็นสินบริคนห์ พ.ต.หลวงจรูญเป็นคนวิกลจริตถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของจำเลยที่ ๑ ๆ ได้ทำสัญญาจะขายเรือพิพาทให้แก่โจทก์ ในเวลาภายหลังที่จำเลยที่ ๑ ได้เป็นผู้อนุบาลแล้ว และจำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือสัญญาขายเรือนพิพาทให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบุตรีหลวงจรูญฯ อันเกิดด้วยภริยาอื่น
ศาลแพ่งเห็นว่าจำเลยที่ ๑ ทำสัญญากับโจทก์ในฐานะส่วนตัวมิได้ทำในฐานะผู้อนุบาล พ.ต.หลวงจรูญฯ ด้วย จึงผูกพันธ์ฉะเพาะสินบริคนห์ส่วนของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น แต่การขายของจำเลยที่ ๑ เป็นการขายตัวทรัพย์ทั้งหมด จึงไม่สมบูรณ์ในฐานะที่เป็นการจำหน่ายตัวทรัพย์จะบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่ได้ ส่วนการจะบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมนั้น ศาลแพ่งฟังว่า การขายให้จำเลยที่ ๒ ไม่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ จึงพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญากับโจทก์ทั้งในฐานะส่วนตัวและเป็นผู้แทนสามีด้วย แต่ในเรื่องสามีหรือภริยาที่เป็นผู้อนุบาล ภริยาหรือสามี ซึ่งไร้ความสามารถจะมีอำนาจจัดการในเรื่องทรัพย์สินเพียงใด ต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์ในระหว่างสามีภริยาคดีนี้จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีอำนาจขายสินบริคนห์ส่วนของสามีโดยลำพัง และก็ไม่ปรากฎว่าเป็นการกระทำในเรื่องหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ โดยลำพังไม่มีอำนาจขายเรือนรายพิพาทให้แก่โจทก์ ไม่มีทางจะบังคับให้จำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามสัญญา และฟังว่าการกระทำไม่มีลักษณะทำให้โจทก์เสียเปรียบ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในสัญญาจะลงชื่อนางกระแสร์จำเลยที่ ๑ แต่ผู้เดียวก็ย่อมใช้ผูกพันสินบริคนห์ได้ตาม ป.พ.พ.ม. ๑๓๖๑ วรรค ๒ และม. ๓๐ เพราะนางกระแสร์เป็นผู้อนุบาลสามีอยู่แล้ว มิพักต้องได้รับความยินยอมจากสามีอีก และข้อเท็จจริงว่าการซื้อขายเรือนระหว่างจำเลยที่ ๑ - ๒ เป็นสมยอมกัน ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิเพิกถอนได้ จึงพิพากษากลับให้เพิกถอนนิติกรรมเรือนรายพิพาทระหว่างจำเลยทั้ง ๒ ให้จำเลยที่ ๑ โอนขายเรือนแก่โจทก์