โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า เมื่อวันที่10 สิงหาคม 2525 นายชื่น พรหมสุข เจ้ามรดกซึ่งเป็นสามีจำเลยได้กู้เงินโจทก์ 200,000 บาท และจำเลยกู้เอง 100,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นายชื่นได้จำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 203, 214 และจำเลยจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 211 ไว้ต่อโจทก์ ต่อมาวันที่18 มิถุนายน 2527 นายชื่นกับจำเลยได้ขึ้นเงินจำนองอีกรายละ 200,000 บาท แต่นายชื่นกับจำเลยไม่ได้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์เลย วันที่ 5 พฤศจิกายน 2530 นายชื่นถึงแก่กรรมโจทก์จึงได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยเมื่อเดือนธันวาคม 2530จำเลยรับทราบแล้วไม่ชำระให้ นายชื่นค้างชำระดอกเบี้ยรวมถึงวันฟ้อง 295,000 บาท จำเลยค้างชำระดอกเบี้ยถึงวันฟ้องรวม 200,000บาท ขอให้จำเลยในฐานะทายาทผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของนายชื่นชำระเงิน 695,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 400,000 บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระให้บังคับจำนองเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองสำนวนขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยในฐานะทายาทของนายชื่น พรหมสุขชำระหนี้โจทก์ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยในฐานะส่วนตัวชำระหนี้โจทก์ 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2525 นายชื่น พรหมสุข สามีจำเลยได้นำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท และจำเลยได้นำที่ดินของจำเลยมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์เป็นเงิน 100,000บาท ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2527 นายชื่นได้จดทะเบียนขึ้นเงินจำนองอีกจำนวน 200,000 บาท รวมเป็น 400,000 บาท จำเลยได้จดทะเบียนขึ้นเงินจำนองอีก 200,000 บาท รวมเป็น 300,000 บาท ตามสัญญาจำนองพร้อมบันทึกขึ้นเงินจำนองเอกสารหมาย จ.6 และ จ.5 มีปัญหาตามที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า นายชื่นสามีจำเลยกู้เงินเพียง 300,000 บาทและโจทก์ให้จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินประกันหนี้ของนายชื่นจำนวน 100,000 บาท จำเลยไม่เคยได้รับเงินจำนวนดังกล่าวและเงินที่นายชื่นกู้เป็นเงินของบิดาโจทก์นั้น ได้ความจากโจทก์ว่า เดิมนายชื่นและจำเลยตั้งใจจะกู้เงินจากนายสุพจน์บิดาของโจทก์แต่นายสุพจน์ไม่มีเงิน จึงให้มากู้จากโจทก์ ครั้งแรกนายชื่นกู้เงินโจทก์ไปจำนวน 200,000 บาท นำที่ดินมาจำนองไว้เป็นประกันและจำเลยได้กู้เงินโจทก์อีก 100,000 บาท ได้จดทะเบียนจำนองไว้โจทก์มีเอกสารสัญญาจำนองที่ดินที่นายชื่นและจำเลยทำไว้กับโจทก์มาแสดงต่อศาล ส่วนที่จำเลยอ้างและนำสืบว่าไม่ได้รับเงินเป็นการนำสืบแก้ไขข้อความในสัญญาจำนอง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่านายชื่นและจำเลยได้กู้เงินและนำที่ดินมาจดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ และยังไม่ได้ชำระหนี้ให้โจทก์จริงส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น โจทก์เบิกความว่าคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตรงกับอัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ในสัญญาจำนอง ที่จำเลยเบิกความว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2.5ตามที่นายสุพจน์บิดาโจทก์เขียนไว้ในเอกสารหมาย ล.2 นั้น เอกสารดังกล่าวมีข้อความเพียงว่า "ดอก 2.5 ส.ต." มิได้มีความหมายให้แปลได้ว่าเป็นการระบุอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.5 บาทต่อเดือน ฟังไม่ได้ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตรา และที่จำเลยฎีกาอีกว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยเกิน 5 ปี ไม่ได้นั้น เป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นเพราะขาดนัดยื่นคำให้การ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้อนี้ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นภรรยานายชื่นเจ้ามรดกให้รับผิดในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายชื่นไม่ได้ เพราะจำเลยยังไม่ได้รับมรดกของนายชื่น และโจทก์ไม่ได้เรียกผู้จัดการมรดกของนายชื่นเข้ามา หรือฟ้องทายาทอื่นของนายชื่นด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1737 เจ้าหนี้กองมรดกจะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อทายาทคนใดก็ได้ หาได้มีกฎหมายบังคับว่าทายาทที่จะถูกฟ้องต้องได้รับมรดกของเจ้ามรดก หรือต้องฟ้องทายาททุกคน และกรณีที่โจทก์ไม่ได้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามาก็อาจมีผลในการบังคับคดีต่อไปเท่านั้น หาทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามที่จำเลยฎีกาไม่"
พิพากษายืน