โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 258,423.26 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 245,460.89 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 245,460.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบโดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ฎีกาโต้แย้งว่า ตามหนังสือมอบอำนาจของบริษัทโจทก์ที่สำนักงานใหญ่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์มอบให้นายจิม ดิงโก มิวซีน มีอำนาจเกี่ยวกับการฟ้องหรือต่อสู้คดี และตามข้อ 5 ให้มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนสับเปลี่ยนผู้รับมอบอำนาจช่วง นายจิม ดิงโก มิวซีน มอบอำนาจช่วงให้นายไพบูลย์ จิรายุวัฒน์ ฟ้องคดีความทั้งปวงแทนโจทก์ ดังนี้การมอบอำนาจในลักษณะดังกล่าวแม้มิได้เป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีใดโดยเฉพาะเจาะจง แต่ก็ครอบคลุมถึงการฟ้องคดีนี้ด้วย แม้โจทก์จะได้ใช้หนังสือมอบอำนาจช่วงดังกล่าวฟ้องคดีอื่นก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้นำมาฟ้องในคดีนี้อีก หาใช่ยังไม่มีการมอบอำนาจที่แท้จริงดังที่ฎีกา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปประการที่สองมีว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น คดีนี้เฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ให้การต่อสู้คดีในเรื่องฟ้องเคลือบคลุมไว้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิฎีกาเพราะเป็นข้อฎีกาที่นอกเหนือคำให้การของตน เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สามมีว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในการขนส่งสินค้า แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท และสินค้าพิพาทเสียหายไปในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ขนส่ง จึงหาได้หลุดพ้นความรับผิดในค่าเสียหายต่อสินค้าดังกล่าวไม่ ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 616 ของ ป.พ.พ. ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น ส่วนประเด็นที่ว่า สินค้าของบริษัทปัตตานีผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เสียหายครั้งนี้เกิดจากการที่รถบรรทุกสินค้าที่จำเลยที่ 1 ยางระเบิดอันเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ยกเรื่องสินค้าเสียหายเพราะเหตุสุดวิสัยเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ ฎีกาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการที่สี่ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีว่า โจทก์มีสิทธิรับช่วงสิทธิจากบริษัทปัตตานีผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด มาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อบริษัทปัตตานีผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ทำสัญญาประกันวินาศภัยกับโจทก์ในนามตนเอง ถึงแม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อเข้ามาแสดงตนและเข้ารับเอาสัญญาระหว่างโจทก์กับบริษัทปัตตานีผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ก็ตาม แต่ก็เป็นการแสดงตนหลังจากโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทปัตตานีผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ไปแล้ว ดังนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการมิได้เปิดเผยชื่อ จะทำให้เป็นที่เสื่อมสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกหาได้ไม่?
พิพากษายืน.