โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ 4,135,440 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 432,000 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,217,800 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 485,640 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2530จนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินอีก 1,000,000 บาท แก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 3,240,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2530 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3052 ตำบลเหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 6306/10 ตารางวา จากจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.4โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยแล้วเป็นเงิน 432,000 บาท คงค้างชำระอีก4,200 บาท ซึ่งตกลงจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์ ที่ดินที่จะซื้อจะขายกันนี้จำเลยมิได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2537 โจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ให้แก่โจทก์โดยส่งเช็คของธนาคารจำนวนเงิน 4,200 บาทให้แก่จำเลย จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 16 เดือนเดียวกัน หลังจากนั้นจำเลยมอบให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2537ถึงทนายความของโจทก์ โดยคืนเช็คของธนาคารดังกล่าวแก่โจทก์ และขอให้โจทก์ซื้อที่ดินหรือบ้านพร้อมที่ดินหรืออาคารชุดของจำเลยในโครงการอื่นจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ได้
พิเคราะห์แล้วที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า จำเลยควรรับผิดคืนเงินค่าที่ดินแก่โจทก์ 432,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กันยายน 2537 มิใช่นับแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2530 นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลย เอกสารหมาย จ.4มีข้อความว่า ผู้จะซื้อได้ชำระเงินค่าที่ดินแล้ว 432,000 บาท คงค้างชำระอีกเพียง 4,200 บาท ซึ่งจะชำระในวันโอนกรรมสิทธิ์โดยผู้จะขายจะดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้จะซื้อภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ผู้จะขายได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้ว หากสัญญาจะซื้อจะขายนี้ไม่ได้กระทำภายในกำหนดเวลาดังกล่าวเพราะความผิดของผู้จะขาย ผู้จะขายต้องคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้จะซื้อพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดังนี้ เมื่อตามสัญญาไม่ปรากฏว่ามีการวางมัดจำกันไว้ก็ต้องถือว่าเงิน 432,000 บาทที่จำเลยรับไปจากโจทก์แล้วนั้นเป็นมัดจำซึ่งตรงตามคำฟ้องที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงิน 432,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ในฐานะที่เป็นมัดจำ อันเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(3)และเป็นคนละกรณีกับการใช้เงินคืนเมื่อมีการใช้สิทธิเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสองซึ่งกำหนดให้คิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่รับไว้ เมื่อการเรียกคืนเงินมัดจำไม่มีกฎหมายบัญญัติให้คิดดอกเบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งที่ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อโจทก์มอบให้ทนายความมีหนังสือทวงถามให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.5 นั้น โจทก์ยังมิได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและเรียกเงินมัดจำคืนจากจำเลย จึงต้องถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและเรียกเงินมัดจำคืนโดยการฟ้องคดี จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยของเงินมัดจำนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
ที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยไม่ควรต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่โจทก์ได้ จำเลยย่อมต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การนั้น ส่วนปัญหาว่าความเสียหายของโจทก์มีเพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีนายประมาณ มุขตารี ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มาเบิกความลอย ๆ ว่า หากโจทก์ได้รับโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายจากจำเลยแล้วโจทก์สามารถขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่บุคคลภายนอกในราคาท้องตลาดไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 5,800 บาท แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบสนับสนุนราคาซื้อขายสำหรับที่ดินข้างเคียงหรือราคาประเมินของทางราชการเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมก็ไม่มีมาแสดงพอให้เปรียบเทียบได้ พยานหลักฐานของโจทก์เพียงเท่านี้จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามที่ฟ้องและนำสืบ อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันฟ้องที่ดินมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละประมาณไม่น้อยกว่า 1 เท่า นั้น ไม่มีข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนให้รับฟังเช่นนั้นได้ จะมีผู้ซื้อที่ดินแปลงนี้ในราคาที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ หากมีผู้ซื้อแล้วโจทก์จะขายให้หรือไม่ ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ หากโจทก์คงถือกรรมสิทธิ์ต่อมาจากปัจจุบันซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าที่ดินมีราคาตกต่ำก็ย่อมเป็นการยากที่โจทก์จะขายได้กำไรถึง 7.5 เท่า ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2นำจำนวนเงินมัดจำ 432,000 บาท ไปหักออกจากราคาที่ดินที่กำหนดให้ใหม่แล้วเหมารวมเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งหมดก็ไม่ถูกต้องเพราะโจทก์มิได้ฟ้องขอมาในทำนองนี้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 1,000,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว และเมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์ก็ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยได้นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,240,000บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3กุมภาพันธ์ 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนจำเลยฎีกายอมรับผิดชำระเงิน432,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16กันยายน 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดังนั้น ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาคือผลต่างของจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดชำระแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 กับที่จำเลยฎีกามา การที่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาในจำนวนทุนทรัพย์ 4,135,440 บาทจึงเกินที่จะพึงเสีย ต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินแก่จำเลย"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 432,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 1,000,000บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 6,000 บาท และให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินแก่จำเลย