โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 271, 272, 274 และ 275 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109 และ 110 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางมันทนา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วม และจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนของโจทก์ร่วมตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกันกับจำเลยโดยโจทก์ร่วมเป็นน้องมารดาจำเลย เมื่อมารดาจำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมก็ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับบิดาจำเลย ปู่ย่าและบิดาจำเลยกับนางสุจินต์ป้าจำเลยประกอบอาชีพค้าขายยาเส้นมาตั้งแต่ปี 2490 โดยปู่จำเลยเป็นผู้คิดเครื่องหมายการค้าตราวัวแดง 2 ตัว ชนกัน และมีคำว่า "กีเส็ง" กำกับอยู่และนำมาใช้กับสินค้ายาเส้นโดยยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เมื่อปู่และย่าจำเลยถึงแก่ความตายแล้ว บิดาจำเลยและโจทก์ร่วมเข้าดูแลกิจการยาเส้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีแทน ต่อมามีการขยายตลาดยาเส้นในภาคอีสานโดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจำหน่าย และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายาเส้นของจำเลยเป็นตราเสือคู่ แต่จำเลยก็ยังจำหน่ายยาเส้นของบิดาจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันด้วย ดังนี้ การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันคือเครื่องหมายการค้า จึงเป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า ซึ่งปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้นและใช้กับสินค้ายาเส้นมาตั้งแต่ปี 2490 ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ถึงประมาณ 46 ปี และเป็นการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า ที่บิดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของปู่จำเลยได้รับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น และไม่ปรากฏว่าบิดาจำเลยและนางสุจินต์ป้าจำเลยทายาทอีกคนหนึ่งได้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้า จึงมิใช่การจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.