โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 271, 272, 274 และ 275 ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109 และ 110 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางมันทนา ศันสนีย์ชีวิน ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า "ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กับมาตรา 272 (1) มาตรา 274 และมาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) และ 274 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นข้อหาความผิดอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วม และจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนของโจทก์ร่วมตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 และมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 หรือไม่
ปัญหาว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วมหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์ร่วมและจำเลยไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า โจทก์ร่วมได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับสินค้าจำพวกที่ 34 ได้แก่ สินค้ายาฉุน ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ตามหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค23103 เอกสารหมาย ป.จ.1 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2541 จำเลยขายยาฉุนที่บรรจุในถุงพลาสติกซึ่งมีเครื่องหมายชื่อ ยี่ห้อกีเส็ง ตราวัวแดง 2 ตัวชนกัน คือ เครื่องหมาย ตามถุงพลาสติกวัตถุพยานหมาย ป.จ.10 ได้แก่ นางรพีพร บุราสิทธิ์ จำนวน 20 ลัง เป็นเงิน 11,600 บาท และขายให้แก่นายจำรูญ บาริศรี จำนวน 100 ลัง เป็นเงิน 55,000 บาท เห็นว่า เครื่องหมายการค้า ที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรของโจทก์ร่วมกับเครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกัน คือเครื่องหมายการค้า ที่ถุงพลาสติกบรรจุยาฉุนที่จำเลยขายให้แก่นางรพีพรและนายจำรูญดังกล่าวมีสาระสำคัญและลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้าอยู่ที่คำว่า "ยี่ห้อกีเส็ง" และคำว่า "ตราวัวชนกัน" กับรูปวัว 2 ตัวชนกันเหมือนกัน เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้ใช้กับสินค้ายาฉุนซึ่งเป็นสินค้าชนิดเดียวกันแล้ว ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองนั้นคล้ายกันอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าและแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อตามฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร โจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าว แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าจำเลยป็นผู้กระทำการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้จดทะเบียนดังกล่าวแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำการเลียนเครืองหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรอันเป็นความผิดฐานนี้
ส่วนปัญหาว่า จำเลยมีความผิดฐานจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรหรือไม่ ปัญหานี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีตัวโจทก์ร่วมมาเบิกความว่า โจทก์ร่วมประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาฉุนหรือยาเส้น โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "ยี่ห้อกีเส็ง" และคำว่า "ตราวัวชนกัน" กับรูปวัว 2 ตัวชนกัน คือ เครืองหมายการค้า ซึ่งโจทก์ร่วมได้รับการจดทะเบียนเป็นเจ้าของไว้กับสินค้าจำพวกที่ 34 ได้แก่ สินค้ายาฉุน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ตามหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค23103 เอกสารหมาย ป.จ.1 ต่อมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2541 นายจำรูญ บาริศรี ลูกค้าโจทก์ร่วมโทรศัพท์มาบอกโจกท์ร่วมว่าเหตุใดสินค้าจากโรงงานของโจทก์ร่วมจึงมีคุณภาพต่ำ ขายไม่ออก ผู้เสพจะบ่นว่ายาสูบไม่มีรสชาติ โจทก์ร่วมจึงเดินทางไปที่บ้านของนายจำรูญที่จังหวัดบุรีรัมย์ นายจำรูญนำยาเส้นมาให้โจทก์ร่วมตรวจดู โจทก์ร่วมตรวจดูแล้วพบว่าเป็นสินค้าปลอม นายจรูญแจ้งว่าซื้อยาสูบดังกล่าวมาจากจำเลยเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2541 จำนวน 100 ลัง ลังละ 550 เป็นเงินทั้งสิ้น 45,000 บาท โดยจำเลยอ้างว่าได้ยาเส้นนั้นมาจากโรงงานของโจทก์ร่วมที่จังหวัดกาญจนบุรี ยาเส้นดังกล่าวสกปรก ไม่มีการปรุงแต่งตามหลักวิชาการ รสชาติฝาดขม ไม่สามารถใช้สูบได้ ถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุแตกต่างจากของจริง แต่เครื่องหมายการค้าที่ถุงพลาสติกนั้นเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม เพียงแต่ลายเล้นและสีของรูปวัวชนกันไม่ชัดเจน และตราสัญลักษณ์ของผู้ผลิตไม่ปรากฏอยู่ด้วย ปรากฏตามภาพถ่ายเครื่องหมายการค้า หมาย ป.จ.3 คำเบิกความของโจทก์ร่วมดังกล่าวมีนายจำรูญมาเบิกความสนับสนุนสอดคล้องต้องกัน นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางรพีพร บุรสิทธิมาเบิกความสนับสนุนว่า เมื่อวันที่เท่าใดจำไม่ได้เดือนมิถุนายน 2541 เวลาช่วงสายขณะที่พยานอยู่ที่ร้านค้าของเบ็ดเตล็ดรวมทั้งยาเส้น จำเลยขับรถยนต์กระบะมาถามพยานว่าจะซื้อยาเส้นหรือไม่ พยานต้องการ จึงตกลงซื้อยาเส้นจากจำเลย จำเลยขายยาเส้นบรรจุถุงพลาสติกที่มีเครื่องหมายการค้ายี่ห้อวัวแดง 2 ตัว หันหน้าชนกันเช่นเดียวกันกับที่จำเลยขายให้นายจำรูญรวม 20 ลัง เป็นเงิน 11,600 บาท ส่วนจำเลยนำสืบโดยมีตัวจำเลยและนางสาวสุจินต์ ศันสนีย์ชีวิน ป้าจำเลยซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับบิดาจำเลยมาเบิกความว่า โจทก์ร่วมเป็นน้องมารดาจำเลยและต่อมาเมื่อมารดาจำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมก็ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับบิดาจำเลย เดิมครอบครัวของจำเลยซึ่งมีปู่ ย่า บิดาจำเลยและนางสาวสุจินต์มีภูมิลำเนาอยู่ที่ท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และเมื่อประมาณปี 2490 จึงย้ายไปอยู่ที่อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ประกอบอาชีพค้าขายยาเส้น ปู่ย่าจำเลยและนางสาวสุจินต์เป็นผู้ริเริ่มค้าขายยาเส้นโดยใช้เครื่องหมายการค้า 7 เครื่องหมาย คือ เครื่องหมายตราวัวแดง ตราวัวแดง 2 ตัวชนกัน ตราปูคู่ ตราหมาจู ตราหมี ตรากิเลน และตราปลา ต่อมาบิดาจำเลยก็ได้ช่วยค้าขายยาเส้นดังกล่าวด้วย ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ตลาดบินทร์บุรีและบ้านของปู่และย่าจำเลยถูกเพลิงไหม้ไปด้วยจึงย้ายครอบครัวไปที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนโกดังที่อำเภอกบินทร์บุรี ย่าจำเลยและนางสาวสุจินต์ดูแลและจำหน่ายยาเส้นที่อำเภอกบินทร์บุรีกับละแวกใกล้เคียงโดยมีการผลิตยาเส้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ส่งมาขายที่อำเภอกบินทร์บุรี เมื่อปู่และย่าจำเลยถึงแก่ความตายแล้ว บิดาจำเลยและโจทก์ร่วมเข้าดูแลกิจการยาเส้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีแทน ต่อมามีการขยายตลาดยาเส้นในภาคอีสานแถบจังหวัดนครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสระเกษ อุบลราชธานี และบุรีรัมย์โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจำหน่าย และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายาเส้นของจำเลยเองเป็นตราเสือคู่ แต่จำเลยก็ยังจำหน่ายยาเส้นของบิดาจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันด้วย นอกจากนี้นางสุจินต์เบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมถามค้านว่า เครื่องหมายการค้าตราวัวชนกัน ซึ่งมีคำว่า "กีเส็ง" กำกับอยู่ด้วยนั้น นายชูปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้น คำว่า กีเส็ง และเครื่องหมายการค้าต่างๆ ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ เห็นว่า โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำสืบพยานหลักฐานอื่นใดหักล้างพยานหลักฐานของจำเลยดังกล่าว โจทก์และโจทก์ร่วมคงนำสืบแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายยาฉุนโดยใช้เครื่องหมายการค้า ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้ายาฉุนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้คิดเครื่องหมายการค้ายี่ห้อกีเส็งตราวัวชนกันดังกล่าวขึ้นมาเองหรือได้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยว่า โจทก์ร่วมเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกันกับจำเลยโดยโจทก์ร่วมเป็นน้องมารดาจำเลย เมื่อมารดาจำเลยถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมก็ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับบิดาจำเลย ปู่ย่าและบิดาจำเลยกับนางสุจินต์ป้าจำเลยประกอบอาชีพค้าขายยาเส้นมาตั้งแต่ปี 2490 โดยปู่จำเลยเป็นผู้คิดเครื่องหมายการค้าตราวัวแดง 2 ตัวชนกัน และมีคำว่า "กีเส็ง" กำกับอยู่และนำมาใช้กับสินค้ายาเส้นโดยยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เมื่อปู่และย่าจำเลยถึงแก่ความตายแล้ว บิดาจำเลยและโจทก์ร่วมเข้าดูแลกิจการยาเส้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีแทน ต่อมามีการขยายตลาดยาเส้นในภาคอีสาน โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินการจำหน่าย และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายาเส้นของจำเลยเป็นตราเสือคู่ แต่จำเลยก็ยังจำหน่ายยาเส้นของบิดาจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกันด้วย ดังนี้ การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้ารูปวัวแดง 2 ตัวชนกัน คือเครื่องหมายการค้า จึงเป็นการจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการ ซึ่งปู่จำเลยเป็นผู้คิดขึ้นและใช้กับสินค้ายาเส้นมาตั้งแต่ปี 2490 ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ถึงประมาณ 46 ปี และเป็นการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า ที่บิดาจำเลยซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่งของปู่จำเลยได้รับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้น และไม่ปรากฏว่าบิดาจำเลยและนางสุจินต์ป้าจำเลยทายาทอีกคนหนึ่ง ได้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่อย่างใด การที่จำเลยจำหน่ายยาเส้นภายใต้เครื่องหมายการค้า จึงมิใช่การจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้า ของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 109 ตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทุกข้อฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน