โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้งดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
จำเลยทั้งห้าให้การว่า การประเมินของจำเลยที่ ๒ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้โดยที่คู่ความไม่อุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ประกอบธุรกิจต่อตัวถัง กระบะรถยนต์บรรทุก ติดตั้งหางพ่วงกระบะดัมป์รถยนต์บรรทุก ก่อนเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทเมืองทองมอเตอร์ร้อยเอ็ด จำกัด ให้ติดตั้งหางพ่วงกระบะดัมป์เข้ากับรถยนต์บรรทุกของบริษัทดังกล่าวจำนวน ๗ คัน ต่อมาเจ้าพนักงานของจำเลยที่ ๑ ตรวจพบว่าหางพ่วงกระบะดัมป์จำนวน ๗ คัน ขาดหายไปจากรายการสินค้าและวัตถุดิบของโจทก์จึงได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามฟ้อง? ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าสินค้าคือหางพ่วงกระบะขาดหายไปจากรายการสินค้าและวัตถุดิบของโจทก์จำนวน ๗ คันจริง และการที่หางพ่วงกระบะทั้ง ๗ คัน ขาดหายไปจากรายการสินค้าและวัตถุดิบของโจทก์เช่นนั้นถือได้ว่าเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๗/๑ (๘) (จ) โจทก์จึงต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีการส่งมอบสินค้าตามมาตรา ๗๘ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อโจทก์ไม่เสียภาษีดังกล่าวโจทก์จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมาย ดังนั้นการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของโจทก์ว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีเหตุที่จะลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ๓๗/๒๕๓๔ เป็นเรื่องการกำหนดระเบียบการงดหรือการลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๘๙ แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งกำหนดไว้ว่าเบี้ยปรับดังกล่าวอาจงดหรือลดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติจากรัฐมนตรี และอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งดังกล่าวเพื่อกำหนดระเบียบการงดหรือลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อให้ผู้ที่จะต้องเสียเบี้ยปรับและเจ้าพนักงานประเมินปฏิบัติ ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวจึงใช้เฉพาะเมื่อมีการพิจารณาว่ามีการงดหรือลดเบี้ยปรับเท่านั้น มิใช่ว่าจะต้องใช้ทุกกรณี หากไม่มีการงดหรือลดเบี้ยปรับก็ไม่ต้องใช้คำสั่งนี้ นอกจากนั้นในคำสั่งดังกล่าว ข้อ ๓ ซึ่งเป็นเรื่องการลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีตามมาตรา ๘๙ (๑๐) ก็กำหนดไว้ชัดเจนให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาลดเบี้ยปรับลงได้ ซึ่งหมายความว่าให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาว่าจะลดเบี้ยปรับให้หรือไม่ มิใช่จะลดให้ทุกกรณี หากเจ้าพนักงานพิจารณาว่าจะลดเบี้ยปรับให้จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งและเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งดังกล่าว สำหรับในกรณีของโจทก์นั้น เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบ จึงไม่พิจารณาลดเบี้ยปรับให้ เมื่อไม่พิจารณาลดเบี้ยปรับจึงไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ๓๗/๒๕๓๔ แต่อย่างใด ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจที่จะไม่ลดเบี้ยปรับให้ การกระทำของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดต่อคำสั่งดังกล่าว สำหรับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็เช่นเดียวกันเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบจึงไม่พิจารณาลดเบี้ยปรับให้ คณะกรรมการดังกล่าวก็สามารถกระทำได้ตามกฎหมายเพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ลดเบี้ยปรับให้แก่ผู้เสียภาษีที่กระทำผิดทุกกรณี การลดเบี้ยปรับกฎหมายบัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจพิจารณาว่าจะลดให้หรือไม่ตามที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น นอกจากนั้นในขณะที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์นั้น คำสั่งที่ ท.ป. ๓๗/๒๕๓๔ ได้ถูกยกเลิกไปโดยอธิบดีกรมสรรพากรได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับการงดหรือลดเบี้ยปรับใหม่เป็นคำสั่งที่ ท.ป. ๘๑/๒๕๔๒ ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ในคำสั่งใหม่นี้ระบุไว้ชัดเจนในข้อ ๓ ของคำสั่งดังกล่าวว่า เจ้าพนักงานประเมินจะพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้ได้เฉพาะกรณีเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าบุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดี ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบจึงไม่พิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อไม่พิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับให้แล้ว จึงไม่อาจนำคำสั่งที่ ท.ป. ๓๗/๒๕๓๔ หรือคำสั่งที่ ท.ป. ๘๑/๒๕๔๒ มาใช้บังคับแก่กรณีของโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๖๗๕/๒๕๔๐ ระหว่าง บริษัทโค้วน่ำเซ้ง จำกัด โจทก์ กรมสรรพากร กับพวก จำเลย ที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๒,๐๐๐ บาท แทนจำเลยทั้งห้า.