คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง, 66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ริบเฮโรอีนและรถจักรยานยนต์ของกลาง
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ปรับบทลงโทษเป็นว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) และกำหนดโทษจำเลยใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า การที่จำเลยขอแก้ไขคำพิพากษาที่ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) เป็นมาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) เป็นกรณีที่ต้องใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงมิอาจแก้ไขให้ตามคำร้องของจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยขอให้กำหนดโทษจำเลยใหม่นั้น เมื่อตามคำพิพากษายังฟังว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง (เดิม) ประกอบกับเฮโรอีนของกลางในคดีนี้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ถึง 267.320 กรัม การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยจำคุกตลอดชีวิตก่อนลดโทษ เห็นว่า เหมาะสมแล้ว จึงไม่กำหนดโทษจำเลยใหม่ตามคำร้อง ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ปล่อยจำเลยไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 นำกฎหมายที่แก้ไขใหม่มากำหนดโทษของจำเลยใหม่ชอบหรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีเฮโรอีน 1 ถุง น้ำหนัก 343.290 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 267.320 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และระหว่างจำเลยกำลังรับโทษตามคำพิพากษาซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วอยู่นั้น ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ที่จำเลยยื่นคำร้องว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เฮโรอีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินหนึ่งร้อยกรัมดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 66 วรรคสอง เดิม แม้โจทก์นำสืบว่าเฮโรอีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินหนึ่งร้อยกรัม ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคสอง เดิม ได้ การกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเดิม จึงต้องใช้กฎหมายใหม่ที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง และมาตรา 66 วรรคสอง เดิม แล้ว หากจำเลยเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวจนคดีถึงที่สุด หากศาลฟังตามคำร้องแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 190 ซึ่งห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด
คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง และมาตรา 66 วรรคสอง เดิม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต และความผิดของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (3) และมาตรา 66 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลย กรณียังคงต้องลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิด คำร้องของจำเลยจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 นำกฎหมายที่แก้ไขใหม่มากำหนดโทษของจำเลยใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของจำเลย